ได้รับมอบหมายให้เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า
พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องมีภาระเพิ่มขึ้นอีกหน้างานสำคัญในการประสานนโยบาย “ดับไฟใต้” ร่วมกับ กองทัพภาคที่ 4 และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อสร้างสันติสุขในดินแดนด้ามขวานที่ยืดเยื้อยาวนานมาเกือบ 20 ปี
ล่าสุดลงตรวจเยี่ยมพื้นที่พร้อมด้วย พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พร้อมด้วย พล.ต.ต.กฤษฎา แก้วจันดี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พล.ต.ต.นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พล.ต.ต.อาชาน จันทร์ศิริ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม รองผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
เข้าพบ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ที่ค่ายสิรินธร หารือกับแนวทางการทำงานร่วมกันให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นเดียวกับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
เดินทางไปพื้นที่ตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส และตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี มี พล.ต.ต.เสกสันต์ ชูรังสฤษฏ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พล.ต.ต.ไมตรี สันตยากุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส พล.ต.ต.สันทัด เชื้อพุฒตาล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี รายงานบรรยายสรุปผลการปฏิบัติ ปัญหาข้อขัดข้อง และข้อเสนอในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วย
พล.ต.ท.สำราญกำชับให้ใช้ทุกมาตรการเพื่อป้องกันการถูกโจมตีฐานที่ตั้ง ที่พัก ลดความสูญเสียในทุกรูปแบบ สืบสวนก่อนเกิดเหตุ ด้วยการเก็บข้อมูลบุคคล ยานพาหนะ และปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ด้วยยุทธวิธีที่เหมาะสม ทุกประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะจะมีการพิจารณาหารือส่วนที่เกี่ยวข้อง
จัดทำแผนวงล้อมจุดตรวจตามสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยง แต่ไม่ใช่ “ถอนกำลัง”ปล่อยปละละเลยจนไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยระแวดระวังภัยให้ชาวบ้าน
มี พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลไปช่วยถ่ายทอดแนวคิดให้ตำรวจนักรบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้อนอดีตเมื่อปี 2547 เจ้าตัวเป็นตำรวจส่วนกลางชุดแรกที่ลงไปช่วยราชการกลางสมรภูมิที่กำลังร้อนระอุ
เริ่มเรียนรู้จาก “เลขศูนย์” กินนอนอยู่ในค่ายที่ พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแหงชาติ ขณะนั้นตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า อยู่ภายในโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 9 อำเภอเมืองยะลา ระดมนักสืบมือดีจากนครบาลและกองปราบปรามเข้ามาสอนทักษะการสืบสวนแกะรอยคนร้าย
ต้นกำเนิด ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ ที่ภายหลังถูกผู้ใหญ่บางคนไม่เห็นคุณค่าใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือ “ขยี้ทิ้ง”
ยกเลิกแม้กระทั่งสิทธิ “อาวุโสทวีคุณ” สกัดคนเพียงบางจำพวก
“บางวันต้องแย่งหัวปลาทูกินกับนายตำรวจรุ่นพี่” พล.ต.ต.นพศิลป์เล่าติดตลก แต่ห้วงเวลานั้นไม่ได้สนุก ต้องทนอยู่บนความเสี่ยง ห่างไกลครอบครัว เพื่อสร้าง “โมเดลสืบสวน” ขึ้นมาใช้ในปัจจุบัน
เขาดีใจที่เห็นลูกศิษย์หลายคนในตอนนั้นไต่เต้าขึ้นเป็นผู้กำกับโรงพักในพื้นที่
เปิดโอกาสให้คนดีมีความสามารถเจริญเติบโตก้าวหน้าในอาชีพราชการตามความถนัดของตัวเอง
นายพลนักสืบระดับอาจารย์ของเมืองหลวงยังหารือ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ในการสร้างขวัญกำลังใจชั้นผู้น้อยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เตรียมเสนอให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพิจารณา
ปรับ “นายดาบตำรวจ” อายุ 50 ปีเลื่อนไหลเป็น “ร้อยตำรวจตรี” โดยอนุมัติ
ร่นระยะเวลาอายุ 53 ปีที่กำหนดมาตรฐานไว้ก่อนหน้าทั่วประเทศ
พล.ต.ต.นพศิลป์มองเห็นถึงขวัญกำลังใจในพื้นที่พิเศษปลายด้ามขวาน พวกเขามีสิทธิจะเจริญก้าวหน้าลุ้นขึ้นเป็น “สารวัตร” ก่อนเกษียณอายุราชการหลังจากทำงานเสี่ยงเพื่อรักษาความสงบสุขในบ้านเกิด
แถมได้กำลังพลที่มีอำนาจตรวจค้นจับกุมเพิ่มมากขึ้น
หวังให้เป็นของขวัญแทนใจแม่ทัพสีกากีคนปัจจุบัน