(3) เข้าเบ้าหลอมโรงเรียนยานเกราะ

โรงเรียนยานเกราะ พ.ศ.2498 ตั้งอยู่ที่บางกระบือ เป็นที่ผลิตนักเรียนนายสิบเหล่าทหารม้ายานเกราะ หลักสูตรเร่งด่วนของกองทัพบก ปีละ 2 รุ่น เรียนและฝึกแค่ 6 เดือน จากนั้นแยกไปสังกัดกองพันทหารม้าต่าง ๆ เพื่อรองรับรถถังน้ำหนัก 20  ตัน มีชื่อว่า M  24 อันเป็นรถถังขนาดใหญ่ที่สุดในยุคนั้น แต่มันเป็นรถถังเบามีทั้งสายพานเหล็กและสายพานยาง กองทัพบกสหรัฐใช้สำหรับลาดตระเวน เมื่อไม่ได้ใช้ก็ส่งมาให้กองทัพบกไทย

M 24 หนัก 20 ตัน มีเขี้ยวเล็บที่น่าเกรงขามในพ.ศ.นั้น มีปืนใหญ่ขนาด 75  ม.ม. มีปืนกลร่วมแกนคู่ขนานกับปืนใหญ่ และมีปืนกลอีกกระบอกอยู่ด้านหน้า เคียงข้างกับพลขับ มีกำลังพลประจำรถ 5 นาย ผู้บังคับรถ….พลยิง….พลบรรจุ  (กระสุนปืนใหญ่) ทั้งสามนายอยู่ในป้อมซึ่งหมุนได้รอบตัว และสามารถยิงได้ทุกทิศทาง ส่วนพลขับกับพลปืนหน้าอยู่ด้านหน้าของตัวรถ     โผล่ให้เห็นแค่ใบหน้า   

พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ เป็นคนไปรับรถถังที่ท่าเรือตลองเตย และขับรถถังลงจากเรือตัวตนเอง

กล่าวถึง พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ ท่านเป็น “ต้นแบบ”  ของชาวยานเกราะ ยามแต่งกายนอกเครื่องแบบ ท่าน คือ เพลย์แมนคนหนึ่ง คาบซิการ์มวนโต สวมรองเท้าส้นสูงที่เรียกว่า    “ส้นตึก”  สวมกางเกงขายาวปลายบานเหมือน “เอลวิส” ชอบเต้นรำจังหวะลาตินอเมริกัน แต่พวกเราได้รับมรดกจากท่านมาอย่างเดียว ทหารยานเกราะต้องสวมนาฬิกาข้อมือข้างขวา

ส่วนธรรมเนียมปฏิบัติ “กินเหล้าหมดแก้วแล้วต้องขว้างแก้ว” นั้น ต่อมาโรยราและเลิกราไปในที่สุด เนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองค่าแก้วโดยเปล่าประโยชน์ เสียค่าเหล้าแล้วยังเสียค่าแก้วอีก     มันก็ดูกระไรเหมือนไม่เกรงใจกระเป๋าตัวเอง

สมัยโน้น ตรงสี่แยกเกียกกายมีเกาะกลางถนนรูปวงกลม เพื่อชะลอความเร็วของยวดยาน    แต่ตรงกลางเกาะเจาะเป็นช่องให้รถรางวิ่งได้ รถรางมาจากบางกระบือจะเลี้ยวขวาไปสะพานแดง      ช่องกลางเกาะนี่แหละ นายพลจัตวาหนุ่มของกองทัพบกไทยที่ชื่อ “ชาติชาย” ขี่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างสำหรับคนนั่งผ่านเข้าไปอย่างหวาดเสียวโดยเอียงซ้ายยกด้านที่พ่วงข้างให้สูงเหนือขอบปูน     เป็นที่เล่าขานสืบกันมา

ต่อมาท่านเจอมรสุมการเมืองไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำอาร์เจนติน่าเลยต้องกระโจนเข้าสู่ถนนการเมืองเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นพลเอก พวกเราชาวยานเกราะเรียกท่านว่า   “ป๋า” ส่วนผู้คนในแวดวงการเมืองลำดับญาติเรียก “น้าชาติ”

สำหรับ  พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นทหารม้าเนื้อ เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า     ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักนอกจากชาวสระบุรี มีนายทหารคนสนิทชื่อ   “อู๊ด เบื้องบน” คอยรับใช้ใกล้ชิด  หลังจากสิ้นพลเอกชาติชายแล้ว พลเอกเปรมจึงเป็น “ป๋า”   ในเวลาต่อมา

โรงเรียนยานเกราะ บางกระบือ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์     ที่มีรถถัง M 24  ซึ่งกองทัพบกไทยปลดระวาง จอดอยู่หน้ากองพันให้รำลึกถึงความหลัง วันก่อนผมผ่านไปไม่เห็นรถถังคันนั้น ตรงที่เคยจอดเหลือแต่เนินว่างเปล่า ไม่รู้เขาเอาไปเก็บไว้ที่ไหน      ส่วนโรงเรียนยานเกราะต่อมาย้ายไปอยู่ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี และเปลี่ยนชื่อเป็น   “โรงเรียนทหารม้า”

ผมเป็นนักเรียนนายสิบยานเกราะรุ่น 5 รุ่นต้นปี  2498 พันเอกบรรพต อิทธะรงค์    เป็นผู้บังคับการกองนักเรียน  ร้อยตรีรัตนะ เจียระไน เป็นผู้บังคับหมวด 4  นักเรียนนายสิบรุ่น 3   เอกจิตต์ ติณสูลานนท์ เป็นครูฝึก

“เอกจิตต์” คนนี้นี่แหละ สร้างประวัติศาสตร์จารึกไว้ในกองทัพบก สำเร็จหลักสูตรนักเรียนนายร้อยสำรอง จากนายร้อยเป็นนายพัน จากนายพันเป็นนายพล และเกษียณอายุราชการด้วยยศ “พลเอก” ไม่ได้เอา “ครู” มานินทา แต่นามสกุลท่านจำง่ายครับ

ยานเกราะรุ่น 5 ทั้งหมด 250 คน แบ่งเป็น  4 หมวด ผมอยู่หมวด 4 นอนใกล้กับ “ ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล” และ “เฉลิมวุฒิ ทองธิราช” ทั้งสองอาวุโสมากกว่าผม เฉลิมวุฒิเป็นทหารเสนารักษ์มาก่อน เวลาผมหรือเพื่อนคนไหนก็ตาม เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคบุรุษต้องมาหาเฉลิมวุฒิ “ช่วยฉีดยาให้หน่อย” จากกันมา 58 ปี ผมไม่เคยเจอะเจอเฉลิมวุฒิเลยได้ข่าวไปอยู่อเมริกา ปักหลักลงฐานที่นั่น

สำหรับหม่อมกำลูนเทพสนิทกันมาก นักเรียนนายสิบมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับพลทหาร     แม้จะเป็นนักเรียนนายสิบแต่แต่งเครื่องแบบเหมือนพลทหาร กางเกงขาสั้นสีกากี เสื้อคอกลมสีขาว หมวกจ๊อกกี้สีกากีแต่เวลาสวมต้องกลับเอาด้านในสีเหลืองออกมาโชว์

วันหยุดวันหนึ่ง หม่อมกำลูนเทพชวนผมไปวังท่านพ่ออยู่ตรงไหนจำไม่ได้แล้ว ท่านพ่อเป็นหม่อมเจ้ามียศนายตำรวจ ผมกับหม่อมแต่งเครื่องแบบอย่างว่าไปที่วัง กดกริ่งเรียก มีหญิงรับใช้เดินออกมา พอเห็นหน้าหม่อมก็พูดว่า “ท่านพ่อรับสั่งไม่ให้เปิดประตูรับ”

ท่านพ่อกริ้วที่ลูกชายหนีไปเป็นนักเรียนนายสิบ เมื่อเข้าวังไม่ได้หม่อมกำลูนเทพก็พาผมไปโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย ไม่ได้ไปดูหนังคลายเครียดหรอกครับ แต่ไปกินน้ำส้มคั้นที่นั่น และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้กินน้ำส้มคั้นปั่น

เรียนและฝึกอยู่ 6 เดือนก็แยกสังกัด หม่อมกำลูนเทพอยู่กองโรงเรียนทำหน้าที่ปกครองดูแลนักเรียนนายสิบรุ่น 6 เลยเหินห่างไม่ได้ติดต่อกัน แต่รู้ว่าหม่อมอยู่กองโรงเรียนไม่นาน ดูเหมือนจะไม่ทันได้ติดยศนายสิบด้วยซ้ำ หม่อมก็ลาออกไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 1      รุ่นเดียวกับพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

ไม่ทันจบโรงเรียนเตรียมทหาร หม่อมกำลูนเทพก็ออกไปเรียนต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์ ด้านการปกครอง กลับมารับราชการกระทรวงมหาดไทย เท่าที่พอรู้หม่อมเคยเป็นผู้อำนวยการกองอาสารักษาดินแดน เป็นนายอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เป็นผู้ว่าราชการขังหวัดเลย ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลย

ตอนหม่อมกำลูนเทพเป็นเจ้าเมืองราชบุรี พวกเรายกโขยงไปเยี่ยมท่าน ไปที่เรือนรับรองบนยอดเขาชื่อเขาอะไรจำไม่ได้ หม่อมบอกว่าจวนเจ้าเมืองอยู่ข้างล่าง แต่ท่านนอนไม่หลับเพราะติดกับทางรถไฟเลยต้องมานอนที่เรือนรับรอง

สายเลือดยานเกราะรุ่น 5 ยังอยู่ในกายของหม่อมกำลูนเทพ ท่านเคยมาร่วมงานเลี้ยงรุ่นที่ภัตตาคารชายทะเลจันทร์เพ็ญ ท่านอ้วนท้วนสมบูรณ์จนผมจำไม่ได้เลยไม่ได้ทักทายในฐานะเป็นเพื่อนสนิทมาก่อนก็ไม่รู้ท่านจะเคืองตา หรือเคืองใจก็ไม่รู้ หลังจากนั้นหม่อมมีภารกิจเลยไม่มีเวลาสำหรับเพื่อนร่วมรุ่น

เสน่ห์เครื่องแบบทหารยานเกราะหาใช่ดึงดูดราชนิกูลอย่าง ม.ร.ว.กำลูนเทพเท่านั้น    หากแต่ระดับสูงอีกชั้น “หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรไชย” ซึ่งโด่งดังในวงการบันเทิงไทยก็ทรงเป็นนักเรียนนายสินยานเกราะเช่นกัน ดูเหมือนจะอยู่รุ่น 3  รุ่นเดียวกับพลเอกเอกจิตต์ ติณสูลานนท์   ถ้าจำผิดก็ขอประทานอภัย

เพื่อนอีกคนต้องกล่าวถึง “สุรินทร์ เจริญปุระ” ดาราเท้าไฟยุคฟลอร์ลีลาศสวนลุมพินี    มักจะใช้วิชานินจาล่องหนจากกองร้อยไปโผล่ที่เวทีลีลาศทุกค่ำคืน ไม่รู้รอดหูรอดตาครูฝึกได้อย่างไร เขาไปกับคู่หูเท้าไฟไม่แพ้กัน “นคร   พันธุ์ทัย”

เมื่อถอดเครื่องแบบอำลายศสิบเอก กองร้อยรถถังที่ 5 กองพันทหารม้าที่ 4 จาก  “สุรินทร์ เจริญปุระ” ก็กลายเป็น “รุจน์ รณภพ” พระเอกหนุ่มหล่อเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการบันเทิงจนกระทั่งเป็นผู้กำกับการแสดงในวัยที่ร่วงโรย แต่เขาไม่เคยลืมเพื่อน ในช่วงที่กำลังดังคับฟ้า สุรินทร์รับตำแหน่งประธานชมรมยานเกราะรุ่น  5 อยู่สมัยหนึ่ง และพวกเราก็ไม่เคยลืมเขา      เมื่อวันเผาสุรินทร์ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พวกเราฝ่าสายฝนไปร่วมพิธี รวบรวมเงินทำบุญจากเพื่อน ๆ สมทบกับเงินสวัสดิการรุ่นรวมกันแล้วไม่มากมายเท่าใด “ใหม่ เจริญปุระ” ถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อรับซองจากเพื่อนพ่อ

ส่วน “นคร พันธุ์ทัย” ไปอยู่ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี ลาออกตอนมียศจ่าสิบเอก     ลงเล่นการเมืองท้องถิ่นนั่น ปัจจุบันทั้งสุรินทร์และนครล่วงลับไปแล้วทั้งคู่

เพื่อนร่วมรุ่นอีกคน “สุรินทร์ พรหมศิริ” ซึ่งเพื่อนหลายคนเรียก “พี่รินทร์” เพราะเขาอาวุโสด้วยวัยวุฒิมาจากทหารอากาศเหล่าช่าง พี่รินทร์เป็นอาของพระเอก “สันติสุข พรหมศิริ”    ทุกวันนี้พี่รินทร์ร่วงโรยไปตามสังขาร โดยเฉพาะความจำที่เสื่อมลงไป อยู่หมู่บ้านนักกีฬา     รับประทานอาหารมังสวิรัติ โชคดีที่มีภรรยาคอยปรนนิบัติ มีลูกชายคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

คนนี้ไม่พูดถึงไม่ได้ “ชลอ บุญยานุต” อดีตตำรวจรถถังวังปารุสกวัน ลูกน้อง พล.ต.อ.เผ่า    ศรียานนท์ ไปสงครามเกาหลีมาแล้ว นี่ก็แก่กว่าพวกเรา ถ้าปูมหลังแค่นี้ก็ไม่ต้องเอามาอวดโอ้      แต่ชลอคนนี้แหละสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่วงการหนังสือพิมพ์เมืองไทย

เขาลาออกจากยานเกราะไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “อิสระ” โรงพิมพ์อยู่แถวนางเลิ้ง ไม่ต้องบอกว่าใครเป็นนายทุนให้ แต่แนวหนังสือพิมพ์อยู่ตรงข้ามกับผู้นำประเทศทรงอิทธิพลในยุคนั้น “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ที่ผู้คนจำได้จนทุกวันนี้ คือ พาดหัวตัวยักษ์ “ไอ้ลิงม้ามแตก” ก่อนหน้านั้นก็มีถ้อยคำที่ฮิตติดปากคนอ่าน อย่างเช่นปัญหาอะไรเอ่ย “ชื่อเหมือนปลา    หน้าเหมือน…   มีเมียเยอะ” จึงเป็นเหตุให้ชายฉกรรจ์ผมเกรียนจำนวนหนึ่ง  มีค้อนมีชะแลงครบมือไปเยือนหนังสือพิมพ์อิสระ ปฏิบัติการทุบแท่นพิมพ์0พังยับเยิน ชลอต้องเผ่นหนีไปกบดานต่างจังหวัด ทุกวันนี้เขายังมีชีวิตอยู่ในวัย 80 ฐานะค่อนจ้างยากจน เขาใช้ชื่อเดิม แต่เปลี่ยนนามสกุลเป็น “บุญยานุตศึกษากร” ไม่อยากให้เกิดปัญหากับเครือญาติที่รับราชการ

วันแรกในโรงเรียนยานเกราะมีแต่เรื่องตื่นเต้นระทึกใจ มีแต่เสียงขู่ตวาดชนิดไม่เคยได้ยินมาก่อน เขาตะโกนก้องให้ถอดชีวิตพลเรือนกองไว้หน้าโรงเรียน ต้องฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด อย่างเดียวและอย่างเดียวเท่านั้น

แล้วก็มีตัวอย่างให้เห็นทันทีทันใด ขณะที่นั่งประชุมชี้แจงกฎกติกาต่าง ๆ เพื่อนคนหนึ่งถูกลงโทษให้วิ่งรอบกองร้อย วิ่งจนกว่าจะมีคำสั่งให้หยุด เพื่อนคนนั้นก็วิ่งแต่พอลับเหลี่ยมกองร้อยเพื่อนก็เดินทอดน่องเหมือนอยากลองของโดยไม่รู้ว่ามีสายตาเหยี่ยวคอยจับจ้องอยู่

นายทหารปกครองให้ครูฝึกไปตามตัวมา พอเพื่อนมาถึงก็เจอกำปั้นนายทหารทรุดกองกับพื้น แน่นอนท่านเขียนเสือให้ม้าเด็ก ๆ ดูเป็นขวัญตา เพราะม้าเด็กเหล่านี้หากเกิดพยศขึ้นมามันจะเอาไม่อยู่ รายการโชว์รอบปฐมทัศน์ที่เห็นก็เล่นเอาพวกเรานั่งตัวแข็งเงียบกริบ นึกในใจพรุ่งนี้จะเจออะไรหนอ

เหมือนพระบวชใหม่ครับ เคร่งครัดในระเบียบวินัยเปี๊ยบ เข้าเวรยามกองร้อยผลัดละ 2  ชั่วโมง ทุกคนยืนตัวตรงถือปืนเล็กยาวบรรจุเอง (ปลยบ.) ไม่มีใครกล้านั่งหรือหลับ แม้จะอยู่ผลัดดึกตีสองตีสาม แต่พอนานไปเริ่มชาชินเรียกว่าแก่วัด การยืนยามก็เปลี่ยนเป็นนั่งยาม แล้วก็หลับยามจึงถูกครูฝึกดอดมาขโมยปืน เจ้าตัวตื่นขึ้นมาไม่เห็นปืนแทบลมจับจึงถูกลงโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ

การฝึกท่าบุคคลและอาวุธก็คงเหมือนนักเรียนนายสิบเหล่าอื่น แต่การลงโทษน่าจะไม่เหมือนกัน ผมเชื่อว่ายานเกราะหนักและพิสดารกว่า มันหล่อหลอมจิตใจพวกเราให้แข็งแกร่งสมกับเป็น “ม้าเหล็ก” ถึงแม้จะฝึกไม่โหดไม่ถึงซีกเสี้ยวของหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำ กองทัพเรือ      แต่หลายคนทนไม่ไหวไม่หนีก็ลาออกกลางคัน

ไอ้เรื่องวิ่งรอบกองร้อยตอนเช้า วันละหลายสิบรอบเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย พวกเราเคยวิ่งจากบางกระบือไปสนามหลวง ถึงสนามหลวงแล้วแทนที่จะหยุดพัก ต้องวิ่งรอบสนามหลวงอีก 3 รอบ  ขากลับมีการวิ่งและเดินสลับกัน

ฝึกเดินทางไกลจากบางกระบือไปวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ต้องสะพายปืนสะพายเครื่องหลัง เสบียงกรังมีแค่น้ำคนละกระติกและข้าวต้มมัดคนละกลีบ หยุดพักครั้งเดียวให้กินน้ำกินข้าวต้มมัด พอขึ้นสะพานบางบัวเห็นยอดเมรุวัดพระศรีมหาธาตุรำไรมันเข่าอ่อนเอาดื้อ ๆ ไปกางเต็นท์กันข้างเมรุเผาศพ ตกกลางคืนยามกองร้อยทั้ง  4  กองร้อยมารวมตัวอยู่ที่เดียวกัน    เพราะเสียงร่ำลือว่า ผีวัดนี้ดุชำมัด มันหลอกไม่เลือกไม่ว่าพระ ว่าคน หรือทหาร

ระหว่างการฝึกถ้าใครทำผิดจะถูกลงโทษกักบริเวณไม่ให้กลับบ้านเสาร์อาทิตย์ ทีนี้ก็มีแฟนมาเยี่ยม แจ้งชื่อผู้ที่ต้องการเยี่ยมแล้วก็นั่งรอที่บริเวณเยี่ยมญาติ กองรักษาการณ์ เพียงอึดใจเดียวครูฝึกก็พาบุคคลนั้นมาที่กองรักษาการณ์ แฟนสาวเห็นหน้าแทนที่จะดีใจกลับมีอารมณ์ตรงกันข้าม เพราะแฟนของเธอถูกครูฝึกเอาเชือกคล้องคอจูงมาผูกที่เสาอาคารเยี่ยมญาติ ทั้งสองได้แต่มองหน้ากันมันพูดไม่ออก บรรยากาศโรแมนติกหายเหือดไปกับเชือกเส้นนั้น

บางคนถูกทำโทษให้ไปยืนริมถนนตรงที่รถรางแล่นผ่าน พอรถรางมาถึงต้องวันทยาวุธและต้องตบปืนให้เสียงดังจนกว่าครูฝึกจะสมน้ำหน้า ผู้คนในรถรางหันไปมองหน้ากัน ไม่เห็นมีนายทหารสักคนแล้วไอ้เบื๊อกนั่นมันทำความเคารพใคร

6  เดือนผ่านไป หลุดพ้นจากโรงเรียนยานเกราะ ชีวิตในวัย 18 ของผม ยิ่งกว่ามันยกร่องฟักทองแตงไทย มากมายหลายเท่าครับ.

 

 

 

         

 

 

 

RELATED ARTICLES