“ตำรวจจะเป็นอะไรที่นอกสายตา ไม่เคยคิดว่าจะมาเกี่ยวข้องกับตำรวจ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวคลุกคลีตีโมงอยู่ในวงการตำรวจนานเกินกว่า 10 ปี ทำให้มองทะลุปัญหาองค์กรสีกากีที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่หลุดออกจากวัฒนธรรมเก่า ถึงถูกสังคมเขย่ามองภาพแง่ลบตลอดเวลา

ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข ลูกสาวคนเดียวของจ่าทหารกรมการทหารสื่อสาร เรียนจบพยาบาลจากมหาวิทยาลัยมหิดลตามความฝันของผู้เป็นพ่อ และไม่เคยเห็นตำรวจอยู่ในสายตา ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับตำรวจ เพราะไม่เคยรู้สึกดีกับตำรวจ

ชีวิตพลิกผันหลังจบการศึกษาในสาขาจิตวิทยาสังคม สาขาจิตวิทยาองค์การ พกพาดีกรีปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์ฯจากมหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งเข็มทิศในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงทำผลงานวิจัยที่โดดเด่นและสร้างชื่อเสียงเกี่ยวกับเด็กแว้นและการก่ออาชญากรรมในกลุ่มเด็ก และเยาวชนในลักษณะของการทำงานวิจัยเชิงคุณภาพในลักษณะที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับกลุ่มแก๊งอาชญากรรมเป็นเวลากว่า 3 ปี

“ก่อนหน้านั้นเป็นพยาบาลโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี” ผศ.ดร.ปนัดดาย้อนประวัติชีวิตที่ต่อมาลาออกไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อมั่นใจแล้วว่า ตัวเองไม่ใช่พยาบาลแน่นอน แต่มองน่าจะไปอยู่องค์กรธุรกิจ ถึงเริ่มต้นงานหน้าใหม่อยู่ฝ่ายบริหารงานบุคคลที่เซ็นทรัลเรียลเอสเตรท ไม่นานสอบเป็นอาจารย์สาขาจิตวิทยาองค์การ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะมีความรู้สึกว่า การทำงานบริษัทเป็นลูกจ้างมันไม่ภูมิใจ

5 ปีเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์แล้วก็ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหิดล กลายเป็นที่ม่ของผลงานวิจัยเรื่องของความรุนแรงทางสังคม เจ้าตัวเล่าว่า ตั้งใจจะทำงานวิจัยดีๆ สักเรื่องหนึ่ง ตอนนั้นเรื่องปัญหาการขับขี่มอเตอร์ไซค์ของวัยรุ่นเด็กแว้น มีปัญหามาก เลยทำเรื่องนี้แบบเจาะลึก เอาตัวเองไปคลุกคลี ไม่ได้ทำแบบสอบถาม เรียกงานวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้ชีวิตอยู่กับเด็กแว้น ตั้งแต่ไปขอคุยด้วย ไปเป็นเบ้ ทำทุกอย่างให้ยอมรับเรา จากเบ้ไปเป็นสก๊อยซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ ก้าวไปขี่มอเตอร์ไซค์แว้นจนเขาเกิดความไว้วางใจพาไปพบกับสิ่งต่างๆ ในปัญหาอาชญากรรม

“ เลยเข้าใจโลกของเด็กแว้น เข้าใจโลกของอาชญากรรมใช้ชีวิต 3 ปี ทำให้รู้ว่าความสัมพันธ์ของโลกอาชญากรรม กับโลกของตำรวจมันเป็นยังไง แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้สัมผัสตำรวจ เพราะตั้งแต่เด็กมาก็เกลียดตำรวจ คือ อยู่ในค่ายทหาร มีความรู้สึกว่า ทหารนี่แจ๋วสุดแล้ว เราก็ดูแคลนตำรวจ มีความรู้สึกว่า 4 เหล่าทัพ ตำรวจจะเป็นอะไรที่นอกสายตา ไม่เคยคิดว่าจะมาเกี่ยวข้องกับตำรวจ ยิ่งพอไปอยู่ในโลกของอาชญากรรม เด็กแว้น ยาเสพติด ยิ่งมีความรู้สึกว่าตำรวจ คือ คู่อริ คือ กลุ่มคนตรงข้ามเรา”

เธอรู้สึกมั่นใจว่า ผลงานวิจัยครั้งนี้สุดยอดระดับมาสเตอร์พีช เพราะไปทำเองไปคลุกคลีกับเด็กแว้น แต่ปรากฏว่า ไม่ผ่าน ทั้งที่ไม่มีใครทำลึกซึ้งขนาดนี้ เขาบอกว่า ขาดเสียงสำคัญที่หายไป ก็คือเสียงของตำรวจ กลายเป็นอคติที่อยู่ในใจลึกๆ ทำให้เราไม่เข้าไปสัมภาษณ์อย่างลึกซึ้งกับตำรวจว่า ทำไมตำรวจถึงปราบพวกนี้ไม่ได้ หรือปราบได้ด้วยวิธีไหน เพราะตอนนั้นเรายังอหังการ ไปยั่ว ไปปาขวดเบียร์หน้าป้อม  เราคิดว่าเรานี่แน่ ตำรวจยังจับเราไม่ได้ แต่ไม่เคยไปถามเหตุผลว่าทำไม ถึงไม่ไล่จับเราให้ได้

สุดท้ายเธอต้องกลับไปสัมภาษณ์ตำรวจไปเอาข้อมูลอีกด้าน มีโอกาสเจอ พล.ต.ต.บวร นันทะยาวงศ์ สมัยเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่กำลังทำวิจัยเรื่องปฏิรูปตำรวจอยู่พอดี เห็นว่าเธอเป็นนักวิจัยก็เลยอยากให้ช่วยทำงานวิจัยด้วย เธอถึงได้ข้อมูลเกี่ยวกับตำรวจในสิ่งที่ไม่เคยรู้ คลุกคลีกินอยู่หลับนอนอยู่สำนักงานผู้บังคับการเพื่อสัมผัสการทำงานของตำรวจทุกสาย

“เสน่ห์ในงานตำรวจมันชวนให้ค้นหาต่อว่า เบื้องหลังของอคติ หรือสิ่งที่ประชาชนมอง หรือความรู้สึกเกลียดชัง หรือประสิทธิภาพที่มันไม่ดีต่างๆ นานา มีอะไรอยู่เบื้องหลัง มีอะไรที่เราต้องไปสร้าง ไปรื้อใหม่ หรือควรจะปรับปรุงก็เลยทำวิจัยต่อในเรื่องวัฒนธรรมองค์กรตำรวจ เข้าไปใช้ชีวิตเหมือนตอนเป็นเด็กแว้นเลย เอาตัวเองไปอยู่ร่วม ไปเป็นสายตรวจ ไปเป็นสายสืบ ไปล่อจับยาบ้า เริ่มที่แปดริ้ว แล้วก็ขยายไปที่โรงพักอื่นๆ ไประดับกองบังคับการ กองบัญชาการภูธรภาค 2 ระดับประเทศในปัจจุบัน”

ผศ.ดร.ปนันดาเห็นว่า ปัญหาของตำรวจไม่ใช่โครงสร้าง แต่เป็นปัญหาเรื่องวัฒนธรรม เป็นอะไรที่บิดเบี้ยว แล้วก็ถูกละเลย ถูกปล่อยทิ้งขว้าง แล้วก็ปล่อยให้ความบิดเบี้ยวนั้นมันยังดำรงอยู่ แล้วก็แก้ปัญหาเอง เช่นปัญหาการสั่งงาน คือ สั่งๆ ไป แต่ไม่มีงบประมาณ แต่ต้องการประสิทธิภาพของงาน อย่างนี้ จริงๆ เคยย้อนถามไหมว่า เอาเงินจากไหน แม้ว่าจะไม่ได้กดขี่ขูดรีดจากคนที่ทำผิดกฎหมาย แต่มันก็ไม่ควรทำ เพราะว่าตำรวจก็ต้องไปอยู่ในวัฒนธรรมอุปถัมภ์ของคนที่ทำผิดกฎหมายอยู่ดี ลักษณะแบบนี้มันถูกปล่อยทิ้ง พอถูกปล่อยทิ้งตำรวจก็ต้องยืนเอง ระหว่างเส้นเทาๆ ดำๆ กึ่งๆ จนตำรวจติดกับดักความคิดว่า ตำรวจขาวไม่ได้หรอก เพราะต้องอยู่ตรงนี้ ทำแบบนี้ นี่คือ วัฒนธรรมหลัก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวมองว่า ตำรวจถูกปล่อยปละละเลยในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ศักยภาพ การฝึกอบรม การดูแลอะไรต่างๆ ต่างจากตำรวจอเมริกัน ลงจากรถมา มีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมืออย่างดี แต่ตำรวจไทยต้องใช้ทุนส่วนตัว ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา กระท่อนกระแท่นไปหมดแล้วจะทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ได้อย่างไร จะปกป้องคุ้มครองประชาชนอย่างมืออาชีพได้อย่างไร สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ ระบบใหญ่อย่างรัฐบาล หรือคนที่ดูแล เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะคนที่จัดสรรงบประมาณ ไม่เข้าใจงานตำรวจอย่างแท้จริง  ด้วยตำรวจมีวัฒนธรรมก่อร่างฝังอยู่กับความบิดเบี้ยวมาช้านาน เช่น วัฒนธรรมบิดตัวเลขคดี เพราะไปถูกดัชนีชี้วัดตั้งเป้าว่า คดีต้องลด คือ ประสิทธิภาพดี

“พวกเขาลืมนึกถึงความเป็นจริงว่า โลกเปลี่ยนไปสังคมเปลี่ยนไป ปัญหาความรุนแรงของอาชญากรรมข้ามชาติ หรืออะไรต่างๆ เปลี่ยนไป ในขณะที่ตำรวจมีทรัพยากรที่ต่ำมาก ความล้าหลังของตำรวจไทยที่ได้รับการสนับสนุนที่ต่ำมาก มันเป็นไปไม่ได้เลยที่สถิติคดีจะลด คือ มันโกหกทั้งเพ รวมถึงเรื่องของระบบการเก็บข้อมูลสถิติของตำรวจด้วย ไม่ใช่การรวมแค่การบิดคดี การตัดตอนคดี เพราะฉะนั้นสถิติคดีที่ลดมันก็ผูกพันไปถึงงบประมาณ ผูกพันไปถึงเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร กำลังคนอะไรต่าง ๆ” นักวิจัยมากประสบการณ์อ่านองค์กรตำรวจอย่างทะลุ

เธอแนะว่า ตำรวจต้องมาวิเคราะห์ตั้งหลักใหม่ให้ชัดเจนก่อนว่า ประชาชนเป็นแบบนี้ สถานภาพอาชญากรรมเป็นแบบนี้ ต่อไปจะเป็นยังไงต้องว่ากันปัญหามันอยู่ตรงไหน ลองมาเปิดเผยตัวเลข เปิดเผยข้อมูลความเป็นจริงแล้วเราจะพูดจะพบสถิติที่น่าตกใจ อย่างไปเคยทำโครงการตำรวจตรวจร่วมมวลชนลดปัญหาอาชญากรรมแล้วบอกว่า อำเภอนี้ไม่ควรจะทำนะ เพราะไม่มีคดี เป็นเหมือนบ้านนอก มีแต่บ่อกุ้ง ไร่นา ไปดูสถิติก็ไม่มีจริง เมื่อตำรวจไปชวนชาวบ้านทำโครงการร่วมมือจัดการอาชญากรรม ชาวบ้านกลับบอกว่า อยากทำมาก ขอทำทั้งตำบลได้ไหม เพราะจริงๆ มีคดีของหาย คดีเกี่ยวกับทรัพย์เยอะมากเลย แต่ ไม่ได้แจ้งความ คิดว่าตำรวจก็ช่วยอะไรไม่ได้

“แล้วก็คงเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างที่ดิฉันเจอมา รถที่ไปแว้น รักมาก เพราะเป็นรถคันแรกในชีวิต ไปแต่งมาสวยมากหายตอนจอดไว้ที่บ้าน ยังไม่อยากไปแจ้งเลย มีความคิดว่าแจ้งไปก็เท่านั้นตำรวจคงจับไม่ได้ สถิติลักรถมีจำนวนมาก ขโมยไปชำแหละดัดแปลง คิดว่าแจ้งไปก็เสียเวลาเปล่า มันก็เลยเป็นแบบนี้ สถิติมันก็สะท้อนสะท้อนศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อตำรวจว่า ไม่มีฝีมือ ยังไงก็ตามไม่ได้ เป็นภาพสะท้อนว่าเทคโนโลยีในการติดตามจับกุมคนร้ายมันล้าสมัย โลว์เทคอย่างแรง ที่สำคัญ ทำชาวบ้านมีความรู้สึกว่า พึ่งตำรวจไม่ได้ ตำรวจไม่ใส่ใจหรอก”

อาจารย์ปนัดดามีมุมมองว่า ถ้าเราปล่อยให้วิธีคิดดำรงอยู่แบบนี้ หรือการบริหารจัดการของตำรวจเป็นอยู่อย่างนี้ ต่อให้ทำอย่างไร ประชาชนก็ไม่รักตำรวจ แล้วนับวันจะเสื่อมไปเรื่อยๆ ตัวตำรวจก็ท้อไปเรื่อยๆ ก่อนจะคุ้นชินอยู่อย่างนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่วันนี้ เหมือนโครงการตำรวจตรวจร่วมมวลชนลดอาชญากรรม ชาวบ้านต้องเป็นคนนำ ตำรวจเป็นแค่สนับสนุน แต่เป็นตัวเสริมพลังอำนาจของตำรวจ ทำให้ภาพลักษณ์ หรือความรู้สึกดีๆ ความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อตำรวจดีขึ้น ชาวบ้านจะรู้ว่า บทบาทของตำรวจเป็นยังไง ความยากในการทำงานเป็นยังไง พอความเข้าใจเกิดขึ้น ความร่วมมือในการทำงานก็จะเกิดขึ้น

เธอว่า ตอนแรกลงพื้นที่หลังเริ่มเฟสแรกของโครงการ ชาวบ้านเริ่มยอมรับว่า ไม่คิดอาชญากรรมในชุมชนจะหมาดไป แต่เชื่อว่าจะลดลง นี่คือความเข้าใจ ถึงแม้อาชญากรรมจะยังไม่หมด แต่เข้าใจว่าความยุ่งยากมันเกิดขึ้นอย่างไร แล้วจะก้าวไปพร้อมกันในการป้องกันอาชญากรรมได้อย่างไร ประชาชนคือตำรวจ และตำรวจคือประชาชนก็จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจ ไม่แบ่งเขา แบ่งเรา เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการร่วมกันปกป้องอาชญากรรมในชุมชน

โครงการตำรวจตรวจร่วมมวลชนลดอาชญากรรมเริ่มต้นตั้งแต่ พล.ต.ต.ธีรพล จินดาหลวง นำไปใช้สมัยเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ต่อยอดทำมาใช้สานต่อเป็นนโยบายหลักของแปดริ้ว กระทั่งได้รับทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย ผศ.ดร.ปนัดดายกให้เป็นต้นแบบของการทำโครงการที่ไม่ล้มพับไปตามวัฒนธรรมองค์กรสีกากีที่มีข้อเสีย “ตำรวจโครงการเยอะมาก เป็นจอมโปรเจกต์ แต่ทำให้ลูกน้องมีความรู้สึกใส่เกียร์ว่าง มีความรู้สึกว่าทำๆ ไปเถอะ เพราะคิดว่าเดี๋ยวนายคนนี้ไป นายคนใหม่มา โครงการนี้ก็ยุบ อันนี้เป็นปัญหาจนลูกน้องที่เป็นนายดาบ เป็นจ่า เอาโครงการโน้นมาใส่โครงการนี้ เฟคไปหมด เพราะผู้นำทั้งหลายก็มีความรู้สึกว่านี่คือ ตัวกู ของกู ไม่รับความคิดเห็นของคนอื่น” เธอว่า

อีกปัญหาหลักทำลายองค์กรตำรวจ อาจารย์นักวิจัยชี้ว่า  ถ้านักวิชาการทั้งหลายลงมาจากหอคอย โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยลงมาสัมผัสกับพื้นที่จริง มาสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานจริง ให้เขาคิด แล้วเราก็เติมเต็มในมุมวิชาการ ช่วยกันมองอย่างนี้ วิชาการจะไม่ลอยอยู่ในสุญญากาศ วิชาการจะจับต้องได้ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม จะว่าไปแล้ว ตำรวจเก่ง ปฏิบัติเก่ง คิดเก่ง มีประสบการณ์ ลูกเล่น ลีลาเยอะ แต่ขาดมุมมองในเชิงคอนเซ็ปต์ นักวิชาการต้องมาช่วยตบแต่งแค่นั้นเอง

ผศ.ดร.ปนัดดาบอกว่า ปัญหาตำรวจมาก่นด่า มาบ่น ไม่สามารถแก้อะไรได้ เพราะไม่ได้แก้ที่รากเหง้า การจับมือกัน การเปิดใจ การยอมรับความเป็นจริงดีที่สุด อยากวอนไปถึงรัฐบาล คือ มีแต่ท่านเท่านั้นที่สามารถทำให้ราหูมันคลายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ เพราะองค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่น่าเป็นห่วง เราปล่อยทิ้งมานานในเรื่องระบบการบริหารงานบุคคล ฉะนั้นต้องเปิดใจและยอมรับว่า จำนวนไม่น้อยที่เติบโตมาด้วยไม่ใช่ผลงาน แล้วคนที่เติบโตมาด้วยไม่ใช่ผลงาน ย่อมที่จะไม่เข้าใจถึงปัญหาที่ดำรงอยู่ อย่างชัดเจน พอไม่เข้าใจ ก็ไม่รับฟัง และเมื่อแวดล้อมไปด้วยคนที่ไม่มีข้อมูลชัดเจน ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพ การบริหารงาน การปกป้องคุ้มครองประชาชนยิ่งล้มเหลวไปใหญ่

นักวิจัยสาวคนดังแทงใจดำถึงผู้มีอำนาจด้วยว่า ควรจะตระหนักว่า ใครจะมาเป็นเบอร์ 1 ของตำรวจ ใครควรจะมาเป็นผู้บริหารที่จะนำพาองค์กรตำรวจไปสู่การเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ของประชาชนอย่างแท้จริง การเลือกผู้นำตำรวจ รวมถึงทีมของตำรวจที่เข้มแข็ง ระบบการบริหารงานบุคคลที่เข้มแข็ง ของรัฐบาลเป็นตัวสะท้อนความจริงใจที่รัฐบาลมีต่อประชาชน ถ้ารัฐบาลยังทำให้เรามองแล้วเรายี้ ดูแล้วก็เหมือนเดิม ไม่มีประโยชน์ ต่อให้อมพระมาพูด ก็ไม่น่าเชื่อถือ

“ส่วนตำรวจเอง แค่ชาวบ้านเห็นตั้งใจทำงานแล้วไม่นิ่งดูดาย แค่นี้เขาก็รู้สึกดีแล้ว ยังไม่ต้องถึงกับจับขโมยได้หรอก อย่างไรก็ตามที่ดิฉันทำทุกวันนี้ ไม่ใช่เพื่อตำรวจ แต่เพื่อสังคมไทย เพราะว่าถ้าตำรวจไม่เข้มแข็ง ประชาชนก็ไม่สามารถฝากความหวังไว้กับตำรวจ เหมือนเราจะฝากความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเราไว้กับคนพิการ ฝากชีวิตไว้กับคนที่สุขภาพจิตไม่ดี คนที่ไม่ใช่มืออาชีพ ในการดูแล ปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน เราถึงอยากเห็นคนที่ดูแลเราเป็นมืออาชีพ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวทิ้งแง่คิด

 

 

RELATED ARTICLES