โครงการวิจัยการบริหารงานตำรวจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการดูแลความปลอดภัยสาธารณะใน 10 ประเทศสมาชิกอาเชียนของ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
มีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่มุ่งหมายนำเอาจุดแข็ง จุดอ่อนของการบริหารจัดการงานตำรวจในแต่ละประเทศมาปรับปรุงและพัฒนางานตำรวจเมืองไทย
สู่การพิจารณา “ปฏิรูปตำรวจ” เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องอย่างตรงจุดมากที่สุด
มาถึงคิวของประเทศมาเลเซียประชากรที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา สภาพอาชญากรรมเกิดขึ้นมาในพื้นที่เขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น มีคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เกิดในสัดส่วนมากกว่าคดีอุกฉกรรจ์
แต่ก็สร้างความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมแก่ประชาชนไม่น้อย
เมื่อปี ค.ศ.2015 คดีอุกฉกรรจ์เกิดขึ้นมากที่สุด ได้แก่คดีปล้นทรัพย์เป็นแก๊งไม่มีอาวุธ จำนวน 10,718 คดี รองลงมาคือ คดีทำร้ายร่างกาย 5,516 คดี ปล้นทรัพย์โดยไม่มีอาวุธ 2,954 คดี และคดีข่มขืน 2,047 คดี
ส่วนคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่เกิดขึ้นในสัดส่วนมากที่สุด คือ โจรกรรมรถจักรยานยนต์ 38,565 คดี ลักทรัพย์ในเคหสถาน 19,286 คดี ลักทรัพย์ 18,078 คดี และลักรถยนต์ 12,049 คดี
กระนั้นก็ตาม มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากส่งผลต่อการเกิดอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มากขึ้นตามมา
คดีที่พบ เช่น การหลอกลวงด้วยจดหมายรักทางอีเมล์ การฉ้อโกงเครดิตการ์ด การฉ้อโกงทางธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ การหลอกลวงให้รับพัสดุ
รูปแบบโครงสร้างองค์กรและการบริหารงานตำรวจของมาเลเซียเป็นแบบรวมศูนย์ภายใต้ชื่อ ตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ขึ้นตรงกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาสูงสุด คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเหลือในการกำกับดูแลการบริหารงานหน่วยงานภายใน
หน่วยงานตำรวจในพื้นที่แบ่งเป็นระดับภาค ระดับเขต ระดับสถานีตำรวจ และที่ทำการตำรวจ ท่ามกลางกำลังพล 137,227 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซีย 1 นาย รับผิดชอบประชากร 227 คน
การเข้าสู่อาชีพตำรวจของมาเลเซีย มี 3 ช่องทาง คือ เจ้าหน้าที่ระดับพลตำรวจ เข้ารับการฝึกอบรม 6 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวน มีคุณวุฒิระดับอนุปริญญา เข้ารับการฝึกอบรม 9 เดือน และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสารวัตร เข้ารับการฝึกอบรม 9 เดือนเช่นกัน
ในการบริหารงานบุคคลของตำรวจแห่งชาติมาเลเซียได้นำแนวคิดสมรรถนะมาใช้ด้วยการกำหนดกรอบออกเป็น 4 สมรรถนะ ได้แก่ สมรรถนะหลัก เช่น ความตระหนักถึงองค์กร สมรรถนะทั่วไป เช่น การบริหารเชิงกลยุทธ์ การบริหาร การเปลี่ยนแปลง สมรรถนะงานตำรวจโดยทั่วไป เช่น อาชญาวิทยา การป้องกันอาชญากรรม สมรรถนะในหน้าที่ เช่น การสืบสวน การสอบสวน การป้องกันอาชญากรรม
ตำรวจแห่งชาติมาเลเซียยังกำหนดยุทธศาสตร์รองรับวิสัยทัศน์ปี ค.ศ.2020 “เป็นหน่วยงานผู้นำในการทำให้ประเทศปลอดภัย สงบ และรุ่งเรือง” มีพันธกิจ บริการอย่างมีคุณภาพและมืออาชีพในการปกป้องประเทศชาติและสร้างสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัยให้แก่ประชาชน
พวกเขาเน้นยุทธศาสตร์ 6 ด้าน คือ ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชน ด้านการป้องกันอาชญากรรม ด้านการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีฟ้องร้อง ด้านการข่าวกรองด้านความมั่นคง และด้านการสร้างความเข้มแข็งให้องค์การ
ระบบกฎหมายของมาเลเซียได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายอังกฤษในอดีต มีรากฐานมาจากระบบกฎหมายจารีตประเพณี ขณะที่การใช้กฎหมายอิสลามครอบคลุมเฉพาะเรื่องสภาพบุคคลในครอบครัวและมรดกเท่านั้น
สำหรับการบังคับใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานประการหนึ่งที่ได้รับการคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการชุมนุมในที่สาธาณะออกในปี ค.ศ.2012 อนุญาตให้ประชาชนชุมนุมได้โดยปราศจากอาวุธ
ทั้งนี้กฎหมายอาญามาเลเซียจะลงโทษผู้ฝ่าฝืนก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง และกำหนดไว้ว่าผู้ชุมนุมจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำท้องที่ของสถานที่ที่จะใช้จัดการชุมนุมอย่างน้อย 10 วัน ก่อนการชุมนุม
การเดินขบวนบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ตามกฎหมาย
ด้านการสร้างหุ้นส่วนเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ตำรวจมาเลเซียได้ตั้ง “หน่วยงานป้องกันอาชญากรรมและความปลอดภัยชุมชน” เพื่อเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในลักษณะองค์รวมเพื่อให้ชุมชนเกิดความปลอดภัย
สร้างความผูกพันกับชุมชนส่งเสริมให้ประชาชนมีสำนึกรับผิดชอบในการป้องกันอาชญากรรม
ด้วยเหตุผลที่ว่า การป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพไม่สามารถดำเนินการได้โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงฝ่ายเดียว