ส่องวิถีตำรวจกัมพูชา

ว่ากันต่อถึงงานวิจัยการบริหารจัดการงานตำรวจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการดูแลความปลอดภัยสาธารณะใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน

คณะวิจัยของ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงเก็บข้อมูลแบบเจาะลึกราชอาณาจักรกัมพูชา ประเทศที่มีบ่อนกาสิโนมากที่สุดในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นประเทศศูนย์กลางของการพนันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่เกิดเมื่อมีช่องโอกาสในการกระทำผิด คดีลักทรัพย์ในเคหสถาน ทว่าคดีอุกฉกรรจ์มีน้อย ส่วนใหญ่ผู้กระทำผิดจะประสงค์ต่อทรัพย์โดยไม่ทำร้ายเหยื่อ

พื้นที่เป้าหมายของผู้กระทำผิดมีทั้งศูนย์การขนส่งคมนาคม ตลาด การจัดงานรื่นเริง แหล่งท่องเที่ยว ริมแม่น้ำ และรถโดยสารที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก อาจเกิดเหตุล้วงกระเป๋า วิ่งราวทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้โดยสารที่นั่งรถสามล้อเครื่องอาจถูกกระชากกระเป๋าได้ง่าย

นอกจากนี้ยังมีคดีลักรถจักรยานยนต์เกิดขึ้นมาก เนื่องจากชาวกัมพูชานิยมในรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเดินทาง คดีที่เกิดขึ้นมีทั้งการชิงรถจักรยานยนต์ขณะกำลังขับขี่ ใช้วิธีผลักให้ล้มแล้วชิงรถจักรยานยนต์หลบหนีไป

อาชญากรรมจำนวนมากที่เกิดขึ้นในกรุงพนมเปญ ผู้กระทำผิดเป็นกลุ่มแก๊งเยาวชน และมักก่อเหตุทะเลาะวิวาทด้วยความรุนแรงจนบางครั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

รูปแบบโครงสร้างองค์กรและการบริหารงานตำรวจของกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากงานตำรวจของฝรั่งเศส แต่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากประเทศอื่นในอาเซียน กรมตำรวจกัมพูชาเป็นหน่วยงานตำรวจระดับกรมหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และยังมีหน่วยงานตำรวจอื่นที่มีฐานะเป็นกรมอยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทยเช่นกัน อาทิ โรงเรียนตำรวจกัมพูชา กรมตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งมีหน่วยงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายอีกหน่วยเรียกว่า “สารวัตรทหาร” อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการทหารสูงสุด

กรมตำรวจกัมพูชา ไม่มีข้าราชการตำรวจประเภท “ไม่มียศ” กำลังพลประมาณ 56,000 นาย เป็นตำรวจหญิงร้อยละ 5.8 ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะงานด้านอำนวยการ ยศตำรวจของกัมพูชาใช้แบบทหาร มีตั้งแต่ พลตำรวจเอกลงไปถึงร้อยตำรวจตรี ชั้นประทวนใช้ยศจ่าสิบตำรวจเอกลงไปถึงสิบตำรวจตรี

ระดับพันตำรวจเอกขึ้นไปเกษียณอายุราชการเมื่อครบ 60 ปี ส่วนยศตั้งแต่ พันตำรวจโทลงมาเกษียณอายุราชการเมื่ออายุครบ 55 ปี

หน่วยงานตำรวจในส่วนภูมิภาค แบ่งหน่วยงานออกเป็น 3 ระดับ คือ กองตำรวจจังหวัดและกรุงพนมเปญ รวม 25 หน่วย เทียบเท่าระดับตำรวจภูธรจังหวัดของไทย สถานีตำรวจแขวง 193 สถานี สถานีตำรวจท้องถิ่น 1,621 สถานี

บทบาทหน้าที่ของตำรวจกัมพูชาไม่ได้จำกัดเฉพาะงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นสำหรับการควบคุมอาชญากรรมและรักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่ในการควบคุมสถิติประชากรในท้องถิ่น ให้บริการทำบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ดูแลความปลอดภัยประชาชนในท้องถิ่น ควบคุมผู้ต้องหาบุคคลพ้นโทษ บุคคลที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่าง ๆ ควบคุมคนต่างด้าวที่เข้ามาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ จัดทำข้อมูลท้องถิ่น ควบคุมแรงงานในโรงงานต่างพื้นที่

ในอดีตกัมพูชาใช้ระบบกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากหลักความเชื่อทางประเพณีของศาสนาพุทธและลัทธิขอม กระทั่งฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลระบบกฎหมายของพวกเขาจึงถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบกฎหมายแบบ “ซีวิลลอร์” หรือระบบประมวลกฎหมายใช้ลายลักษณ์อักษรเป็นหลักในการพิจารณาและตัดสินคดี

นอกเหนือจากกฎหมายที่มีโทษทางอาญาทั่วไปแล้ว กัมพูชายังมีกฎหมายที่ใช้รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน คือ กฎหมายควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ ประกาศใช้เป็นครั้งแรกในปี 2534 ก่อนมีการแก้ไขฉบับใหม่ในปี 2552

กำหนดให้ผู้นำการชุมนุมทำหนังสือแจ้งการจัดการชุมนุมแก่ฝ่ายปกครองในท้องที่ที่จะจัดการชุมนุมล่วงหน้า ในคำร้องต้องชี้แจงจุดประสงค์ของการชุมนุม สถานที่ ระยะเวลาที่จะทำการชุมนุม รวมทั้งจำนวนคนหรือยานพานะที่ใช้ในการชุมนุม

ประกาศบังคับใช้ก่อนเมืองไทยหลายสิบปี

RELATED ARTICLES