ก้าวที่  42 ย้ายค่าย  

จุกแชมเปญระเบิดเปิดออก ชุ่มชื่น พูลสวัสดิ์ หัวเรือใหญ่หนังสือพิมพ์น้องใหม่สยามโพสต์ มีสีหน้าสดใสบรรจงรินแอลกอฮอล์รสฝาดใส่แก้วนับสิบที่วางเรียงรายอย่างหรูหราตามสไตล์ฝรั่งเศสให้ทุกคนในที่นั้นจิบฉลอง

หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ฉบับแรกคลอดออกจากแท่นพิมพ์ตึกบางกอกโพสต์ ถนน ณ ระนอง เขตคลองเตย เมื่อค่ำคืนวันที่ 8 สิงหาคม 2535 บรรยากาศวันนั้น ไพศาล ศรีจรัสจรรยา โรจน์ งามแม้น อรุณ ลานเหลือ อัมพร พิมพ์พิพัฒน์ กรรณิการ์ วิริยะกุล อ้วน อรชร วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย พิชิตชัย แก้วมณี รวมกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่หัวเราะในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา

ผมถูกเรียกเข้ามาเป็นสักขีพยานครั้งนั้น บัณฑิตหนุ่มน้อยป้ายแดงเพิ่งผ่านพ้นรั้วมหาวิทยาลัยกรุงเทพยึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์อย่างเป็นทางการแล้ว

“เย้ เย้ เย้” แก้วแชมเปญกระทบวันเวลาผันผ่านนานเกือบ 3 ปี มันเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมเห็นรอยยิ้มเปื้อนใบหน้าของชุ่มชื่น พูลสวัสดิ์ คนข่าวหญิงตัวเล็กพันธุ์แกร่งหัวใจนักสู้ผู้ไม่เคยย่อท้ออุปสรรค

“เธอไปอยู่สายตำรวจนะ ชั้นว่า เธอเหมาะกว่า” ชุ่มชื่นหารือใครก่อนหน้านี้หรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ผมถูกแกกำหนดจุดสตาร์ตเส้นทางชีวิตนักข่าว หลังพวกผมล้วนเป็นบัณฑิตจบใหม่ไม่มีประสบการณ์โดนจับฝึกฝนกันอยู่หลายเดือนที่ห้องแคนทีน อาคารอื้อจื่อเหลียง

ก้าวแรกของอาชีพนักหนังสือพิมพ์ผมเริ่มต้นจากบุญคุณของชุ่มชื่น พูลสวัสดิ์ ผู้สัมภาษณ์งานด้วยคำถามขวานผ่าซาก แต่ก็ไม่ทำให้ผมอดยาก ลำบากมาถึงทุกวันนี้

ปี่กล่องเชิดใกล้เคาะระฆังส่งสัญญาณกังวานการเลือกตั้ง การเมืองไทยกลับมาเข้มข้นอีกระลอกในยุคประชาธิปไตยเต็มใบปราศจากอำนาจเผด็จการขุนทหารครอบ ภายหลังชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2538  อันเนื่องมาจากการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกรณีการแจกเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่รับผิดชอบโดยพรรคประชาธิปัตย์แกนนำรัฐบาล

มีการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2538

ความสำคัญของข่าวการเมืองเบียดบังพื้นที่หน้า 1 ของข่าวอาชญากรรมไปหมดเกลี้ยง เสียงต๊อกแต๊กของเครื่องพิมพ์ดีดบนโต๊ะหัวข่าวอาชญากรรมยังคงทำงานตามปกติ อัมพร พิมพ์พิพัฒน์ เป็นหัวหน้าที่ช่วยประสิทธิ์ประศาสตร์วิชาให้ผมโลดแล่นประคองติดลมบนไม่ร่วงหลุดมากอง หรือล่องลอยหายไปในท้องฟ้าเหมือนว่าวสายป่านขาด

“ข้ามีเรื่องให้เอ็งช่วยเขียน”

“เรื่องอะไรหรือครับ”

“เรื่องเกี่ยวกับตำรวจ เหมือนสกู๊ปวันอาทิตย์ที่ลงหนังสือพิมพ์แหละ แต่นี่เป็นสกู๊ปคดีอาชญากรรมในนครบาล เดี๋ยวข้ามีค่าขนมให้”

“ลองดูก็ได้ครับ ไม่รู้จะดีหรือเปล่า” ผมพยักหน้ารับคำ ไม่ใช่เห็นแก่ค่าขนม แต่อยากหาประสบการณ์สะสมมากกว่า “ เอ็งทำได้อยู่แล้ว ข้าเชื่อฝีมือเอ็ง” หัวหน้าอัมพรยิ้มพิมพ์ดีดต่อ

บรรยากาศหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตและการเมืองของประเทศ ผมปฏิเสธตามข่าวสำคัญเกี่ยวกับอาชญากรรมอย่างคนหมดไฟ แม้กระทั่งโศกนาฏกรรมโป๊ะล่มท่าพรานนก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2538 คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนไม่น้อย

“พี่ครับ ขอข่าวด้วย”  ผมนั่งรอกระดิกเท้าจั่วไพ่หน้าตาเฉย

โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง โฟกัสข่าวสายตำรวจมุ่งไปกรมตำรวจ นโยบายกวาดล้างมือปืนรับจ้างและผู้มีอิทธิพลของ พลตำรวจเอกพจน์ บุณยะจินดา อธิบดีกรมตำรวจ แทบเป็นข่าวรูทีนรายวัน หนังสือพิมพ์หัวสีไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด ละเลงกันสนุกถึงการไล่ฆ่าหัวคะแนนพรรคนั้น พรรคนี้ตามพื้นที่ต่างจังหวัด พลตำรวจตรีคำนึง ธรรมเกษม ผู้บังคับการปราบปราม เป็นหัวหอกคอยตรึงสถานการณ์ไม่ให้เกิดล้างเลือดกัน

สนามการเมืองเปิดตัวพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายตำรวจหนุ่มลูกเขยพลตำรวจโทเสมอ ดามาพงศ์ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ในมาดของนักธุรกิจการสื่อสารโทรคมมาคมไฟแรงอยากแสดงบทตามแบบฉบับนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ใครล้วนจับตา เขาถูกพลตรีจำลอง ศรีเมือง ทาบทามมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ประกาศกร้าวจะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยในนามของหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ขณะที่ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเป็นพรรคเนื้อหอมของประชาชนในยุคนั้น แม้เพิ่งมีประวัติด่างพร้อยในเรื่องเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 แต่ภาพสมถะของนายกฯชวน อาจเรียกคะแนนสงสารจากคนกรุงได้ไม่น้อย

หีบบัตรเลือกตั้งความหวังคนทั้งประเทศเปิดลงคะแนนอย่างเป็นทางการเมื่อเช้าวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 ผมไม่ถวิลหาฝักใฝ่การเมืองตื่นเช้ามาเพื่อเข้าคูหา ต่างจากพ่อแม่กูลีกูจอแต่เช้าไปยังบ้านของตา ซอยจรัญสนิทวงศ์ 3 เขตภาษีเจริญ ตามที่อยู่ในสำเนาทะเบียนบ้าน

ผมไม่แน่ใจนักว่า เขากาพรรคไหนระหว่างประชากรไทยของสมัคร สุนทรเวช หรือมวลชนของร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งเป็นนักการเมืองฝีปากคมด้วยกันทั้งคู่ คนสมัยนั้นยกให้เป็นดาวสภา อภิปรายได้ถึงพริกถึงขิง

ผมถูกไปประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล ดูสถิติการทำผิดเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รอเวลาปิดหีบ ห้องนักข่าววันหยุดคึกคัก ขาประจำถือโอกาสฆ่าเวลาด้วยการล้อมวงนับเลขกันอีกแล้ว เป็นห้วงชีวิตที่ผมไม่รู้ว่า สุข หรือทุกข์

โทรทัศน์ถ่ายทอดสดรายงานสถานการณ์นับคะแนนแล้ว แต่ละพรรคใหญ่ต่างสูสีคู่คี่กัน ใครจะไต่ขึ้นไปนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ในประวัติศาสตร์ชาติครบรอบ 63 ปีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามเป็นที่จับตา

ปรากฏว่า บรรหาร ศิลปอาชา หลงจู๊จากเมืองขุนแผนพาพรรคชาติไทยขึ้นป้ายมาที่ 1 ได้จำนวนผู้แทน 92 คน ชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ ตามมาอันดับ 2 ได้ผู้แทน 86 คน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่ ขึ้นมาอันดับ 3 กวาดคะแนนพื้นที่อีสานได้ผู้แทน 57 คน พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พรรคชาติพัฒนา อันดับ 4 จำนวนผู้แทน 53 คน ส่วนพรรคพลังธรรมของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้ผู้แทน 23 คน เป็นที่นั่งในเมืองหลวงถึง 16 คน นอกนั้น มีมนตรี พงษ์พานิช พรรคกิจสังคม 22 คน อำนวย วีรวรรณ พรรคนำไทย 18 คน สมัคร สุนทรเวช พรรคประชากรไทย 18 คน อาทิตย์ อุไรรัตน์ พรรคเสรีธรรม 11 คน ไชยยศ สะสมทรัพย์ พรรคเอกภาพ 8 คน และร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง พรรคมวลชน 3 คน รวมที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา 391 คน

คอกข่าวการเมืองเฮฮา โรจน์ งามแม้น นั่งบนโต๊ะท่ามกลางวงล้อมรีไรเตอร์ หัวหน้าข่าว คอลัมนิสต์ และนักข่าวการเมือง คุยกันลั่นกองบรรณาธิการ เอิ๊กอ๊ากวิเคราะห์คนนั้นคนนี้จะไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ตามประสาคนข่าวรุ่นเก่าที่คร่ำหวอดอยู่ในสนามมานาน

ความน้อยเนื้อต่ำใจของผมเกิดขึ้นตรงนั้นเอง

“ข่าวอาชญากรรมมันยิ่งกว่าเป็นลูกคนใช้” ผมถอดใจต่อโชคชะตา

“บรรหารเป็นนายกรัฐมนตรี ป๋าว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย” จิ้งจกการเมืองสนทนาสนิทสนม  เสียงหัวเราะครึกครื้นทำลายโสตประสาทคอกข่าวโต๊ะอื่นแบบไม่เกรงใจ เหมือนทั้งกองบรรณาธิการมีแต่คอการเมือง

รอเวลาแบ่งเสี้ยวขนมเค้กจากรัฐบาล

ในที่สุด บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ต่อมาในวันที่ 18 กรกฎาคม พุทธศักราช 2538 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรองนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายบุญพันธ์ แขวัฒนะ เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายอำนวย วีรวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี

นายปองพล อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเรืองวิทย์ ลิกค์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายประสงค์ บูรณ์พงศ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจรัส พั้วช่วย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายรักเกียรติ สุขธนะ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายโภคิน พลกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายสุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประภัตร โพธสุธน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเนวิน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หม่อมราชวงศ์เกษมสโมสร เกษมศรี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาญชัย ปทุมารักษ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายฉัตรชัย เอียสกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมบัติ อุทัยสาง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพีระพงศ์ ถนอมพงษ์พันธุ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่าที่ร้อยตรี ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายมนตรี ด่านไพบูลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเกียรติชัย ชัยเชาวรัตน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตรี ศรชัย มนตริวัต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายพิศาล มูลศาสตรสาทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม นายอุดมศักดิ์ ทั่งทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

นายสุขวิช รังสิตพล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชิงชัย มงคลธรรม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร้อยตำรวจโท เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเสนาะ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสรอรรถ กลิ่นประทุม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสนธยา คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงอุตสาหกรรม นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงอุตสาหกรรม นายบุญชู ตรีทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย

“เฮ้ย ตกลงเอ็งจะมาอยู่ไทยรัฐหรือเปล่า” กิจจา ทองเกลา โทรศัพท์เข้ามือถือ มันคงเป็นห้วงของการตัดสินใจเลือกทางเดินอาชีพจริง ๆ แล้ว

“การเมืองภายในของพี่สงบแล้วหรือ”

“ไอ้บ้า ไม่มี ไอ้ต้อยมันก็การันตีมึง มันคุยกับพี่อ๋อยแล้ว พี่อ๋อยแกโอเค ตระเวนมันขาด เขาจะให้ข้าขึ้นไปกรมตำรวจ”

ถอนหายใจทิ้งเฮือกใหญ่ “ถ้าอย่างนั้น โอเคพี่”

ขั้นตอนทุกอย่างผ่านไปรวดเร็ว ผมเข้าไปสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถิ่นเก่าที่เคยฝึกงาน กลิ่นน้ำหมึกคุ้นเคยทำผมปรับสภาพง่ายในการเดินอยู่บนกองบรรณาธิการเพื่อตกลงรายละเอียด โต๊ะข่าวอาชญากรรมเปลี่ยนมุม เช่นเดียวกับโต๊ะข่าวหน้า 1 อันมีผลพวงมาจากพิษอาร์พีจีถล่มเมื่อหลายเดือนก่อน

“เริ่มงานได้เมื่อไหร่” อลงกฎ จิตต์ชื่นโชติ หัวหน้าข่าวอาชญากรรมถาม

“แล้วแต่พี่ครับ”

“ถ้าอย่างนั้นก็ต้นเดือนหน้า”

ผมใจหายวาบ ทว่าตกปากรับคำหน้าตาเฉยราวกับมีอะไรดลใจ

เสียงเครื่อพิมพ์ต๊อกแต๊กของอัมพร พิมพิพัฒน์ ยังคงทำงานปกติ เคาะเสียงหัวใจผมเต้นเป็นจังหวะ แกหยุดพักจุดบุหรี่ นาทีของการลาจากมาถึง “พี่ครับ ผมจะลาออกไปอยู่ไทยรัฐนะครับ” ประโยคยกภูเขาออกจากอกพรูพรั่ง

หัวหน้านั่งพิมพ์ดีดต่อ “เออ ดีแล้ว” แกว่าเหมือนเข้าใจ “ไปอยู่ตระเวนข่าวหรือ โชคดีนะ” อัมพรไม่ถามเหตุผลสักคำ “ไว้ไปเลี้ยงฉลองกัน”

ผมยิ้มเจื่อน หยิบเอาใบลามาเขียน ระบายความอัดอั้นขวบปีสุดท้ายในชายคาสยามโพสต์เต็มเครื่อง ไม่กี่วันผมเดินไปกราบลาโรจน์ งามแม้น หัวหน้ากองบรรณาธิการในห้องทำงาน

“เอ็งมันหยิ่งจองหอง ทำแบบนี้ เหมือนถีบหัวเรือส่ง” ประโยคนั้นดังก้องหูผม

RELATED ARTICLES