นับตั้งแต่ปี 2478 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามได้เพียง 3 ปี จวบถึงปัจจุบันที่เปลี่ยนสยามเป็นประเทศไทย
มีคำสั่งประหารชีวิตนักโทษมาแล้ว 325 ราย
แยกเป็นการยิงเป้า 319 ราย รายสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546
หลังจากนั้นมีพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พุทธศักราช 2546
ยกเลิกการประหารด้วยวิธีการยิงเป้า เปลี่ยนมากำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยา หรือสารพิษให้ตายแทน
มีนักโทษถูกฉีดยาสารพิษไปแค่ 6 ราย รายแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 และรายล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552
ห่างเหินนานกว่า 9 ปี พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพิ่งแจ้งถึงการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย ธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังที่เรือนจำคลองเปรม เมื่อเวลา 15.00-18.00 น.วันที่ 18 มิถุนายน 2561
เป็นนักโทษประหารด้วยวิธีการ ฉีดยาสารพิษรายที่ 7 ในประวัติศาสตร์โทษสูงสุดเด็ดขาดของเมืองไทย
นักโทษประหารรายนี้ก่อคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณเพื่อชิงทรัพย์โทรศัพท์มือถือ และกระเป๋าสตางค์ ใช้มีดแทงเหยื่อรวม 24 แผลเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดจังหวัดตรังเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555
สู้คดีกันถึง 3 ศาล
ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนเป็นผลให้คดีถึงที่สุด
แต่ถ้าจะย้อนกลับไปถึงโทษยิงเป้าที่ฮือฮาสุดของเมืองไทย ไม่พ้นยุครัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่นำเอา มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครอง
ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งประหารชีวิตคนได้
มี จอมพลถนอม กิตติขจร สืบทอดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีรับเอามาตรา 17 สั่งประหารชีวิตเสือร้ายไม่ต่างจากศาลเตี้ย
เหตุผล คือ ต้องการประจานความชั่วมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง
ดังสะท้านเมืองเมื่อ 52 ปีก่อน คือ คำสั่งประหาร 6 โจรผยอง ปิดตลาดอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงมือปล้นอย่างอุกอาจในปี 2508
พ.ต.อ.(พิเศษ) จรุง เศวตนันทน์ ปู่ของ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนปัจจุบัน เป็นผู้อ่านคำสั่ง จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2509 เบิกตัว 6 ดาวปล้นออกจากเรือนจำ
พวกมันถูกผ้าผูกตาพาสู่หลักประหารบริเวณสนามโรงเรียนท่าเรือนิตยานุกุล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วางตัวให้ พ.ต.ต.ศุภสิทธิ์ ศรีสุระสงคราม ยิงเป้า เสือใบ กุลแพ พ.ต.ต.ทิพย์เจริญ ชูเวช ยิง เสือสมบุญ มากฤทธิ์ ร.ต.อ.ชูพันธ์ ประยูรเวช ยิง เสือทวี เฉลิมสมัย ร.ต.ท.สหัส จิตตานนท์ ยิง เสือบุญเลิศ ปรอดเกิด ร.ต.ท.ประสาร ธนสุกาญจน์ ยิง เสือมะลิ คาลามานนท์ ร.ต.ต.ดำริห์ บุญกระพือ ยิง เสือน้อย เจริญสุข
ต่อหน้าชาวบ้านนับร้อยที่มามุงดูเหตุการณ์ประหารครั้งประวัติศาสตร์นี้ โดยไม่มีนักสิทธิมนุษยชน “โลกสวย” ออกมา “แหกปาก” เรียกร้องหาความเป็นธรรม
ผ่าน 83 ปี นับจาก ยิงเป้านักโทษคนแรก กรมราชทัณฑ์ยังคงยึดแนวคิดเดิม
คำสั่งประหารชีวิตจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือกระทำผิดกฎหมายได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษนี้