ออกมาแสดงความเห็นกระแสเพื่อเรียกร้องให้อัยการเข้ามาทำการสืบสวนสอบสวนคดีเองแทนตำรวจ
กระหึ่มขึ้นอย่างเงียบ ๆ และต่อเนื่อง
พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท อดีตผู้บังคับการประจำ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน นายตำรวจนักเขียนได้ข่าวเป็นระยะ ๆ จากน้องนายตำรวจระดับเนติบัณฑิต
ขนาดเจ้าตัวนอนอยู่บนเตียงพักฟื้นหลังผ่าตัดยังสะดุ้ง เลือดในกายของอดีตพนักงานสอบสวนมันพลุ่งพล่าน รีบคว้าโทรศัพท์มือถือมาร่ายยาว เท่าที่จะทำได้
บอกว่า การสืบสวนและการสอบสวน เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์
(ศาสตร์)คือต้องมีวิชาความรู้เกี่ยวกับการสืบสวน สอบสวน และความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแบบที่เรียกว่า รู้ลึก รู้รอบ รู้โลก
(ศิลป์) คือแท็กติกและยุทธวิธีในการดำเนินการ
ดังนั้นต้องมีการคัดเลือกตัวบุคคลและมีการฝึกอบรมผู้ที่ทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะโลกยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีก้าวไกลไปมาก นักสืบ นักสอบ จะต้องผสมผสานความรู้ดั้งเดิมของการเป็นนักสืบ นักสอบ ที่ดีกับวิทยาการสมัยใหม่เพื่อปรับใช้ไปด้วยกัน
“การสืบสวนนั้น มิใช่การลงไปเพียงเพื่อหาข่าวหรือสอบถามข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องมีการสังเกต จดจำ และเฝ้าจุด แบบที่เรียกว่าซุ่มโป่ง บางคดีต้องใช้เวลานานเพื่อให้ให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน” พล.ต.ต.ไอยศูรย์ว่า
งานนักสืบส่วนมากเป็นงานภาคสนาม บางครั้งต้องมีการปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น เช่น เป็นคนบ้าคนเก็บขยะ คนซื้อขวดก็มี และหายครั้งอาจมีการปะทะต่อสู้ ใช้มีดใช้ปืนและระเบิด
ถามว่าอัยการมีความพร้อมแค่ไหนที่จะลงไปเป็นนักสืบเอง
คดีที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ส่วนมากถูกคลี่คลายโดยทีมงานตำรวจทั้งนักสืบและนักสอบ เพราะทำมาจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญไปในตัวเองแล้ว
ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า ระบบยุติธรรมของประเทศไทย เป็นระบบถ่วงดุลอำนาจ
ตำรวจคือ ต้นธารของกระบวนการยุติธรรม เรียกว่า ต้นน้ำ
อัยการคือ กลางธารของกระบวนการยุติธรรม เรียกว่า กลางน้ำ
ศาลคือ ปลายธารของกระบวนการยุติธรรม เรียกว่า ปลายน้ำ
ทนายความ โจทก์ จำเลย คือปลาที่ว่ายอยู่ในกระแสน้ำ ตั้งแต่ต้นธารถึงปลายธาร
“ทำไมถึงได้คิดว่า ถ้าอัยการทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนแล้ว จะได้ผลดีกว่าตำรวจ หรือเพราะอัยการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จึงมีความยุติธรรมมากขึ้น”
กลับไปหาข้อมูลเรื่องการลงโทษข้าราชการที่ประพฤติไม่ชอบดูได้ มีทุกหน่วยงานของกระบวนการยุติธรรม
ตำรวจยุคปัจจุบันนี้ จบกฎหมายถึงขั้นมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต เนติบัณฑิต เป็นจำนวนมากและเนื่องจากการอยู่ในพื้นที่เป็นระยะเวลานานหนึ่งปีสองปีสามปีหรือหลายๆปีถ้าไม่ได้ย้ายไปไหน ตำรวจนักสืบ นักสอบได้รู้จักคนทุกประเภทในพื้นที่ รู้จักสภาพพื้นที่ภูมิประเทศ เป็นอย่างดี
ตำรวจนักสืบ นักสอบ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ (เขตรับผิดชอบของโรงพัก) แต่บางคดีก็ต้องประสานกับนักสืบ นักสอบ ต่างท้องที่ เพื่อร่วมมือกัน ยกเว้นตำรวจนักสืบ นักสอบ ส่วนกลางบางหน่วย ที่มีอำนาจทั่วราชอาณาจักร แต่ก็มีระเบียบกำหนดไว้ในการแจ้งหรือประสานให้ท้องที่ทราบ
“ผมคิดว่า กรณีของอัยการที่อยากเป็นนักสืบ นักสอบ นี้ อาจทำได้โดยการเผชิญสืบเป็นเรื่องๆ ไป”
แต่อย่ามาใช้ตำรวจ ไปเป็นลูกมือนะ
เขียนเรื่องนี้ ข้อมูลอาจจะยังไม่สมบูรณ์ เพราะร่างกายยังไม่แข็ง แต่จิตวิญญาณตำรวจมันเรียกร้อง
ขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตำรวจ คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมตำรวจ สมาคมพนักงานสอบสวน ชมรมพนักงานสอบสวน และทุกหน่วยที่มีหัวใจรักตำรวจ
ช่วยต่อสู้ยืนหยัดเป็น “หลักชัย” เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการตำรวจทั่วประเทศด้วยครับ
ขออภัยถ้าไม่ถูกใจผู้ใด