บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ประเทศผ่านม่านชัตเตอร์หลายพันรูป
เป็นภาพความทรงจำอันที่คุณค่าของ สายัณห์ พรนันทารัตน์ ตลอด 40 กว่าปีในชีวิตช่างภาพข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
เกิดย่านนางเลิ้งในครอบครัวคนจีน มีความรู้แค่ประถม 4 จากโรงเรียนวัดเบญจมบพิตรด้วยความที่พ่อแม่ค้าขาย ประกอบเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียนเลยไม่มีโอกาสไปสอบเข้าต่อที่ไหน ต้องดิ้นรนตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ คนข้างบ้านรับไปทำงานร้านกาแฟอยู่ถนนราชดำเนิน หลังอาคารที่ทำการหนังสือพิมพ์บางกองโพสต์ในสมัยนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่วงการข่าว
สายัณห์ย้อนลำดับเรื่องราวในอดีตว่า เดินถือพวงเหล็กหิ้วแก้วกาแฟไปเสิร์ฟคนในบางกอกโพสต์ ปรากฏว่า กำธร เสริมเกษมสิน กับเท่ห์ จงคดีกิจ คนข่าวรุ่นบุกเบิก มีเมตตาใจดีรับเข้าไปทำงาน เพราะอยากให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นเด็กเดินเอกสาร ภาษาอังกฤษเรียกว่า ก๊อปปี้บอย ทำทั้งกลางวันกลางคืนเก็บเงินแบ่งให้แม่ทุกเดือน ส่วนเรื่องการเรียนพยายามลงกวดวิชาภาคกลางคืน สุดท้ายไม่สำเร็จ เพราะเหนื่อย และไม่มีเวลา
เขาปรับเปลี่ยนตัวเองไปเรียนภาษาอังกฤษที่วายเอ็มซีเอและเอยูเอ เนื่องจากทำงานบางกอกโพสต์ควรต้องมีพื้นฐานทางภาษาบ้าง กระทั่งกำธรเอาไปฝึกหัดล้างฟิล์ม และถ่ายรูป “ บางกอกโพสต์เป็นเหมือนโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ทำให้เราได้เห็นอะไรเยอะ ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น” เจ้าตัวว่า หลังจากอยู่ห้องมืดสักระยะ ได้มีโอกาสออกภาคสนามไปถ่ายรูปในช่วงที่ช่างภาพประจำหยุด ได้กล้องของอนันต์ ชมชื่นเดินทางไปพร้อมนักข่าวจนได้ออกงานบ่อย ผู้ใหญ่ไว้วางใจ
ต่อมาสายัณห์เป็นช่างภาพอายุน้อยสุดที่เข้าไปประจำทำเนียบรัฐบาลยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการแต่งกาย และมารยาทของนักข่าวช่างภาพ ไม่ใช่ฟรีสไตล์เหมือนปัจจุบัน ไม่สามารถออกมาเดินเพ่นพ่าน แถมยังไม่มีรังนกกระจอกให้สื่อมวลชนอยู่ “ คนอื่นใส่สูทกัน เรายังไม่มีเงินซื้อ ได้แค่ผู้เนคไทเข้าไป เหมือนเด็กนักเรียนฝึกงาน จอมพลถนอมเห็นเราอายุน้อยสุดพยายามให้เราถาม เพราะรู้ว่า ไม่สามารถเบียดเข้าไปใกล้ได้ อุปกรณ์ที่ใช้ยังไม่ค่อยดีพอ”
คอยเก็บประสบการณ์จากนักข่าวช่างภาพรุ่นพี่ฉบับอื่นออกตระเวนถ่ายภาพหลายสาย ตั้งแต่ อาชญากรรม สังคม กีฬาและตามเสด็จฯ พระเจ้าแผ่นดิน ถ่ายภาพพระราชกรณียกิจ ทว่าไม่ง่ายสะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน สายัณห์ยกตัวอย่างเหตุการณ์เพลิงไหม้ต้องโทรถาม 199 ว่าที่ไหนแล้วต้องหาวิธีไป หาสถานีตำรวจดับเพลิงใกล้ที่สุดเพื่อเกาะรถไปด้วย ใช้เวลาให้เร็วที่สุดไปหาขึ้นตึก หามุมกล้องบันทึกภาพ ถือเป็นความรู้ของเราให้ทำงานแบบสนุกขึ้น ได้ออกต่างจังหวัด อยู่ชายแดนอรัญประเทศติดเขมรที่กำลังมีเหตุการณ์สู้รบช่วงสงครามเวียดนามเป็นปี เกาะเหตุการณ์สลัดอากาศจี้เครื่องบินการูด้าของอินโดนิเซียในสนามบินดอนเมือง รวมถึงการปฏิวัติตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร การปฏิบัติรัฐประหารพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ถือว่าบ่อยสุดในสมัยนั้น
อดีตช่างภาพหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เล่าอีกว่า ยังได้ถ่ายภาพวิกฤติตัวประกันสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยปี 2515 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม เริ่มขึ้นจากการที่ผู้ก่อการปาเลสไตน์กลุ่ม แบล็กเซปเทมเบอร์เข้าจู่โจมสถานทูต เป็นวันเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารแห่งประเทศไทย รวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน เขายังต้องสูญเสียเพื่อนร่วมอาชีพจากเหตุนักเรียนยกพวกตีกันที่ถี่ยิบในสมัยก่อน ก่อเหตุวิวาทยิงกันตรงสะพานพระราม 6 กระสุนหลงมาถูก “กวง” ชูศักดิ์ เชิดชูชัย ช่างภาพมากฝีมือของบางกอกโพสต์เสียชีวิต มี พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บาดเจ็บด้วย
“ไม่มีใครอยากให้คนเสียชีวิต ก็ถือว่าเป็นบุญวาสนาของเพื่อนเราที่มาได้แค่นี้ เรื่องความเสี่ยงของอาชีพช่างภาพมีตลอด วันนั้นมือปืนยิงออกมาจากโรงเรียนหลายนัด ทุกคนหลบ แต่บังเอิญกวงกับ พล.ต.ท.ณรงค์ ยืนใกล้กันทำให้โดนลูกหลงไปด้วย”
สิ่งที่ภูมิใจในชีวิตสุด สายัณห์บอกว่าเป็นบุญวาสนาได้ติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมัยดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเป็นผู้แทนพระองค์ไปประเทศจีนครั้งแรกที่เติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้นำจีนทำหนังสือทูลเชิญ
“ชีวิตช่างภาพที่ทำงานในเมืองไทย ผมได้ครบทุกรส ทุกอย่าง แต่แม้จะทำงานสนุกก็ต้องระวังตัวเราด้วย ผมเชื่อว่า ทุกบริษัทคงไม่ได้เลี้ยงเราไม่ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ ฉบับเล็ก เราก็ต้องดูแลตัวเอง ยิ่งความเป็นช่างภาพจะถูกให้ความสำคัญน้อยกว่านักข่าว น้อยกว่าพวกนักเขียน พวกคอลัมนิสต์” สายัณห์มองแบบนั้น ตั้งแต่ทำงานภาคสนามมาในยุค พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ต่อด้วย พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ และอีกหลายคนตลอด 20 ปี ก่อนเข้ามาอยู่ข้างในกองบรรณาธิการนั่งตำแหน่ง บรรณาธิการภาพเป็นหัวหน้ายาวถึงปี 2555 จนเกษียณอายุราชการ
เหลียวกลับมาดูช่างภาพยุคปัจจุบัน สายัณห์กังวลว่า คนรุ่นใหม่ ไม่มีใครหยิบหนังสือแล้ว เอาโทรศัพท์มือถือมาดู ทำให้ช่างภาพหนังสือพิมพ์ลดน้อยลง หนีไปทำเว็บไซต์กันใหม่ ปัจจุบันใครมีโทรศัพท์มือถือก็ถ่ายรูปได้ ถ่ายวิดีโอได้ ส่งข่าวด่วนอะไรก็ได้ คือ โลกเปลี่ยนไป หนังสือพิมพ์ดูช้าลง สมัยก่อนเพื่อนอยู่แม่ริมเชียงใหม่จะดูบางกอกโพสต์ต้องรอถึง 5-6 โมงเย็นกว่าหนังสือพิมพ์จะขึ้นเครื่องบินไปส่ง สมัยนี้ตี 4 ตื่นมาเปิดโทรศัพท์มือถือก็อ่านได้แล้ว
“ช่างภาพรุ่นเก่าทำงานหนัก ไปต่างจังหวัดต้องหาข้อมูลในการส่งฟิล์มเข้ามาคำนวณเวลาจะต้องทันเครื่องบิน รูปอาจจะช้า ถ้าฝากไปกับรถทัวร์ ตอนหลังพัฒนาขึ้น เมื่อบางกอกโพสต์ ซื้อเครื่องจากเอพีเรียกว่า เรดิโอโฟโต ดัดแปลงเป็นภาพส่งมา แต่ก็ไม่สะดวกเหมือนสมัยปัจจุบันผ่านอินเตอร์เน็ตเร็วกว่ามาก”
อดีตหัวหน้าช่างภาพรุ่นลายครามค่ายบางกอกโพสต์ถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยว่า เคยไปถ่ายมวยชิงแชมป์โลกของแสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ที่ต่างจังหวัด ต้องหิ้วอุปกรณ์ไปทำห้องมืดในห้องน้ำโรงแรมเก่า ๆ ที่มิดชิด สำหรับล้างฟิล์มอัดภาพขาวดำแข่งความเร็วกับช่างภาพหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ บางทีมวยจบแค่ยกแรกต้องรีบไปล้างฟิล์มเตรียมส่งรูปที่ไปรษณีย์กลางเตรียมไว้ให้
มีภาพเหตุการณ์มากมายอยู่ในความทรงจำของสายัณห์เก็บเป็นประวัติศาสตร์ตัวเอง นอกจากเหตุตุลาวิปโยคปี 2516 และ 2519 แล้วยังมี ภาพที่เขาถ่ายส่งในนามหนังสือพิมพ์เสียงปวงชนประกวดสมาคมนักข่าวได้รางวัลยอดเยียมมูลนิธิอิศรา อมันตกุล จากเหตุการณ์จลาจลพลับพลาไชย 3 กรกฎาคม 2517 ภาพเหตุจลาจลเรือนจำลาดยาว เดือน พฤศจิกายน 2517 ระเบิดสรรพาวุธทหารบก สพานแดงบางซื่อ เมื่อวันที่ 16พฤศจิกายน 2523
ภาพนักเรียนช่างกลปทุมวันตีกับช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ถ่ายภาพหน้ากองพล 1 ถนนศรีอยุธยา รถเสียหายจากการยิงฝ่ายปฏิวัติที่ยิงปืนรถถังมาจากทหารฝ่ายรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 ไล่ตามรถเมล์ สาย 19 ที่นักเรียนอาชีวะจี้มาจะไปตีฝ่ายตรงข้าม ตำรวจสามารถบังคับให้เข้ามาจอดกลางสนามหลวง ตำรวจขึ้นบนรถเกิดระเบิด หลังเหตุการณ์นั้น สายัณห์บอกว่า ทุกครั้งจะขึ้นตรวจค้นตำรวจต้องให้นักเรียนนั่งบนรถ ถ้าระเบิดจะได้ตายด้วยกัน
นอกจากนี้ยังมีภาพเวียนเทียนวัดเบญจมบพิตร ภาพพระราชทานเพลิงศพวีรชน 14 ตุลา ระหว่าง 13-15 ตุลาคม 2517 โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ พระราชทานเพลิงที่ ท้องสนามหลวง มีภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงดนตรีที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาพพิธีสวนสนามทหารรักษาพระองศ์ ช่วงเฉลิมพรรษา 5 ธันวาคม ได้บันทึกภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสมัยดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินกลับโรงเรียนทหารที่ประเทศออสเตรเลีย และในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราฃทานเลี้ยงขอบใจคณะสื่อมวลชนที่ตามเสด็จฯ เมืองจีน ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ในฐานะเป็นคนโบราณที่มีประสบการณ์ลั่นชัตเตอร์ สายัณห์ยอมรับ ดีใจกับช่างภาพรุ่นลูก รุ่นหลาน สามารถหาอุปกรณ์ดี ๆ มาใช้ กระนั้นก็ตาม การทำงานข่าวอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมีงานเสริมอย่างอื่นด้วย รับถ่ายงานอย่างอื่นบ้างเพื่อเลี้ยงตัวเองในบั้นปลาย อีกเรื่องที่สำคัญควรจะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมไม่อย่างนั้นจะตามโลกดิจิทัลไม่ทัน