พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.) สั่งการ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผู้กำกับการ4กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ต.ท.หญิง อนุสรา บัวแดง สารวัตรกองกำกับการ4กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค สนธิกำลัง เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดปฏิบัติการตรวจค้นร้านจำหน่ายสินค้านำเข้ามาจากประเทศจีน 7 จุด สามารถตรวจยึดของกลาง 97 รายการ จำนวนกว่า 2,411 ชิ้น
เนื่องจากประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารแลย (อย.), เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติการตรวจค้นร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพหานคร เฟส 1 จำนวน 12 จุด ต่อมาพบว่ายังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงเป็นที่มาของการระดมกวาดล้างร้านจำหน่ายสินค้าลักษณะดังกล่าวอีกในครั้งนี้ โดยเข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป (ซุปเปอร์มาเก็ตจีน) จำนวน 7 แห่ง สามารถตรวจยึดของกลาง จำนวน 97 รายการ จำนวนกว่า 2,411 ชิ้น มูลค่ากว่า 141,000 บาท ไว้เป็นของกลาง
โดยผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากภาษาจีน และนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งหมด เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 6(10) ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ก่อนนำของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
โดย เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากการข่าวทราบว่าอาหารลักลอบหนีภาษีจากประเทศจีนถูกนำเข้ามายังประเทศไทยโดยรถบรรทุกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว นำเข้ามาเก็บในโกดังแถวจังหวัดปริมณฑลแล้วกระจายขายต่อในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ อย. จะได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหาร เครื่องสำอาง ลักลอบนำเข้าไม่เสียภาษีศุลกากรต่อไป และ อย. จะตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารโดยเข้มงวดและดำเนินคดีตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งได้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัด ให้ตรวจสอบเฝ้าระวังในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ด้าน พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการระดมกวาดล้างการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาแล้ว และยังมีการเฝ้าระวังอยู่โดยตลอด เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค โดยผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย ทั้งแฟลตฟอร์มออนไลน์และหน้าร้านทั่วไป หากพบไม่มีเลขสารบบอาหาร อย่าซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนได้
ชมคลิป