“ถ้าเราสั่งคดีแล้วมันไม่ใช่ เพราะกลัวคนบางคนที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการอย่างนั้นหรือ”

 

กไปอยู่ในวงล้อมสนามข่าวดราม่าคดีปริศนาดาราสาวคนดังจมก้นแม่น้ำเจ้าพระยา

ทำให้ “อัยการดาวสุภาภรณ์ นิปวณิชย์ อดีตพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี กลายเป็นคนดังในสังคมชั่วข้ามคืน เมื่อต้องลงไปคุมสำนวนการตายของแตงโม- ภัทรธิดา หรือนิดา พัชรวีระพงษ์ นักแสดงชื่อกระฉ่อนที่เป็นประเด็นร้อนท่ามกลางมโนโซเชียลของพวกบรรดา “หิวแสง” แข่งกันวิพาษ์วิจารณ์ชวนพาให้คดีปั่นป่วน

ปัจจุบันเจ้าตัวย้ายเป็นอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการคดียาเสพติด ยังยืนหลักตามพื้นฐานของพยานหลักฐาน ตามตัวบทของกฎหมายที่ไม่มีใครจะเข้ามาแทรกแซงทำลายความเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม

ชีวิตของเธอเริ่มต้นเป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี เกิดในครอบครัวที่พ่อรับราชการทหารอยู่กองพลทหารราบที่ 9 แม่เป็นผดุงครรภ์ ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายถึง 3 ขวบย้ายเข้ากรุงเทพมหานครมาเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนปากเกร็ด นนทบุรี ต่อมัธยมต้นโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา แล้วไปจบชั้นมัธยมปลายโรงเรียนดอนเมืองช่างอากาศบำรุง

เรียนเร็วเพราะปีเดียวสอบเทียบผ่านชั้นมัธยมปีที่ 6 อยากเป็นหมอ ชอบสายสาธารณสุข แต่เอ็นทรานซ์ไม่ทัน ต้องไปลงเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีแรกบางคนบอกว่ายาก แต่ไม่ยากสำหรับเธอสามารถเก็บหน่วยกิตเกินเป้า คำนวณแล้วอีก 2 ปีน่าจะเรียนจบ ถ้าเกิดไปสอบติดหมอต้องใช้เวลาเรียนอีก 6 ปี สุดท้ายเรียนจบนิติศาสตร์ในวัยเพียง 18-19 ปี ไปสอบตั๋วทนาย ก่อนต่อเนติบัณฑิตยสภา

เริ่มทำงานเป็นนิติกร ศาลฎีกา แล้วย้ายไปอยู่สำนักงานทนายความ เธอเล่าว่า คนจบเนติบัณฑิตยสภามักจะมุ่งไปสอบพิพากษา แต่ต้องมีประสบการณ์ทางด้านกฎหมาย เป็นทนายบวกด้วยอายุ 25 ปี แต่เราจบมาตอนอายุ 20 ปี ในความรู้สึกพอไปเป็นนิติกรไปช่วยหลายแผนก และประจำหน้าห้อง รอเวลาไม่ไหว ว่างมาก กระทั่งเจอสามี ตัดสินใจแต่งงาน

“บังเอิญตอนนั้นสามีรอสอบผู้พิพากษาเหมือนกัน เขาอายุมากกว่าดาว เราก็อยากให้เขาสอบก่อน แล้วดาวถึงไปสอบ แต่เลือกเป็นอัยการ เหตุผลเพราะวืถีชีวิตอัยการกับผู้พิพากษาไม่เหมือนกัน เนื่องจากอาชีพผู้พิพากษาค่อนข้างเปราะบาง อยู่ในความหวาดระแวง พี่ที่เคยสนิทกันยังไม่กล้าคุยกับเรา ด้วยเพราะเราเป็นเด็กกิจกรรมเลยรู้สึกว่า ถ้าอาชีพผู้พิพากษาเป็นขนาดนี้มันไม่ใช่ตัวเรา ตัดสินใจสมัยสอบอัยการดีกว่า”

เธอขยายความเพิ่มเติมในมุมมองด้วยว่า เข้าใจในบริบทของผู้พิพากษาที่มีกรอบเยอะ สมมติต้องมีสื่อมวลชนถามเรื่องกฎหมาย ในฐานะที่เป็นอัยการตอบได้หมด ประชาชนทั่วไปถาม เราตอบได้ แต่ผู้พิพากษา ตอบไม่ได้ ทำให้เราชอบอัยการมากกว่า เหมือนคุยได้ทุกชนชั้น คุยกับคนธรรมดา คุยกับทนาย คุยกับตำรวจ คุยกับศาลก็ได้ทุกระดับ คิดว่า ตัดสินใจไม่ผิดที่ไปสอบอัยการ

ครั้งแรกลงประสำนักงานคดียาเสพติด แล้วย้ายไปสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุบลราชธานี  สำนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีตามความตั้งใจที่อยากไปใช้ชีวิตต่างจังหวัด เธอมองว่า อัยการต่างจังหวัดจะเก่ง ต้องทำทุกอย่างทั้งแพ่งและอาญา ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ประกอบกับอยากจะอยู่กับครอบครัว เพราะตอนนั้นสามีย้ายไปเดชอุดม “ดาวอยากใช้ชีวิตสงบนะ ชอบสวดมนต์ ไหว้พระ ไม่ได้เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง หรืออยากมีชื่อเสียงอย่างที่คนเห็นเลยในตอนนั้น ชีวิตเพอร์เฟ็กต์ สามีเป็นผู้พิพากษา มีลูก 2 คน มีบ้านเล็ก ๆ มีรถสักคัน”

อยู่อุบลราชธานี 2 ปี ย้ายมาสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัว จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นย้ายไปสำนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น เป็นช่วงที่พ่อแม่ป่วยต้องวิ่งขึ้นลงกรุงเทพมหานคร อัยการคนดังเล่าว่า จุดพีกคือ พ่อเริ่มแก่เป็นมะเร็ง ต้องการคนมาดูแล แถมเจอปัญหาอีกหลายอย่างรุมเร้าเป็นเหตุให้ต้องเลิกรากับสามี ถึงได้เวลาย้ายมาอยู่สำนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี

นำเอาประสบการณ์มาคุมสำนวนมากมาย ผู้ใหญ่เริ่มรู้จัก ทำกิจกรรมจนผู้ใหญ่เมตตา กระทั่งเกิดคดีแตงโม ทำให้คนเริ่มรู้จักมากขึ้นว่า “อัยการดาว” คือใคร เหมือนวิกฤติเป็นโอกาสให้ทำงานพิสูจน์ความสามารถ “ไม่ได้อยากให้ใครมาตายในพื้นที่ แล้วทำให้เราไปเป็นเหมือนเน็ตไอดอล  แค่อยากอธิบายหลักการทำงานตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม มันน่าน้อยใจนะ 20 กว่าปี ไม่เคยมีใครรู้จักอัยการ นอกจากตำรวจและผู้พิพากษา”

เธอบอกถึงคดีแตงโมว่า  โซเชียลมีเดียเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม  เราอยู่ในวงการกฎหมาย ไม่ได้อยู่ในวงการสื่อ ต้องยอมรับว่า ถ้าตัวเราทำตามที่ตัวเรามีหลัก ผู้ใหญ่เข้าใจ นักกฎหมายเข้าใจ ถึงประชาชนด่า เราก็ยังทำงานต่อไปของเรา “ถ้าเราสั่งคดีแล้วมันไม่ใช่ เพราะกลัวคนบางคนที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการอย่างนั้นหรือ เหมือนยัดข้อหาเขา คือ ต้องกลัวความไม่ถูกต้อง ถ้าเราสั่งแบบไม่ถูกต้อง เขาฟ้องกลับเราแน่ เราต้องยัดข้อหา แล้วเราไม่รอด ส่วนคนนอกดังเป็นพลุแตก เป็นดาวดัง  สุดท้ายดิฉันอยู่ในคุกออกจากราชการ ไม่มีจะกิน มันไม่ได้”

สถานการณ์ในตอนนั้น อดีตอัยการจังหวัดนนทบุรีอาศัยความนิ่ง ผู้ใหญ่เข้าใจ ไม่กดดัน ปล่อยให้ทำงานแบบอิสระ แต่มีคนนอกพยายามแซะมาทุกอย่าง เธอว่า เราอยู่ในองค์กร เลือดในองค์กรแรงกว่าข้างนอก พูดง่ายๆ เราอยู่ในองค์กร ข้างนอกหาแสงแป๊บเดียวก็หายไป แต่เราต้องทำมาหากินในองค์กร ใครจะด่าก็ช่าง แล้วเวลาจะด่าก็ต้องยอมรับ

“ทั้งนี้เราต้องฉลาดในการตอบคำถาม  เพราะมีความพยายามถามให้เป็นประเด็น อย่างเช่น มีภาพหลุดจากต่างประเทศ ไม่อยากจะพูดว่าไม่มี หรือมีไหมในสำนวน เราตอบไม่ได้ เป็นเรื่องของกระบวนการ ถามว่า ณ ตรงนั้น พนักงานสอบสวนไม่ได้ชำนาญทุกด้าน แต่ตั้งใจทำจริงๆ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ทุกอย่างต้องถูกต้องตามกฎหมาย พอเห็นตำรวจตั้งใจทำงานจะไปบอกว่าตำรวจไม่รู้เรื่อง มันเสียนะ ดาวพยายามจะบอกว่า ไม่ชอบให้คนมาด่ากันมากมายทั้งแผ่นดิน ด่าจนคนมันเสียกำลังใจ คือ คนดีเขาก็มี อยากบอกอย่างหนึ่งว่าถ้าดาวจะต้องดังโดยการฆ่าผู้อื่นจะไม่ทำ ไม่ต้องดังก็ได้” อัยการสาวระบายความรู้สึก

“ทุกครั้งสังคมถึงมองว่า เราปกป้องตำรวจ แต่เราไม่ได้ปกป้อง พูดไปก็ถูกด่าก็เท่านั้น เราต้องทำมาหากิน เราเหมือนผัวเมียกัน ตำรวจกับอัยการเจอกันทุกวัน ทำอะไรไม่ได้ต้องให้จบไป พอมันจบ เดี๋ยวแสงมันก็หายไป แล้วมันก็จบจริงๆ แต่ก็สาหัส ทุกคนถามว่า เหนื่อยไหม คิดว่า ดาวเหนื่อยไหมล่ะ คือ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาตกเรือก็จบไปนานแล้ว ถ้าเป็นคนธรรมดาแล้วในนั้นไม่มีเศรษฐี มหาเศรษฐีจบไปแล้ว” เธอว่า

เจ้าตัวบอกด้วยว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลน่ากลัว มีแต่คนอยากดัง แต่เราไม่อยากดัง ถ้าอยู่ในวงอัยการต้องรู้บางคนเก็บอาการ เก็บทรงไม่อยู่  ถามว่า เราเป็นแบบนั้นไหม ทำคดีแตงโมมีแรงกดดันจากข้างในและข้างนอก คนเอาข้อมูลมาเสนอ ถ้าเรานิ่งก็พัง แต่เราชอบตัดสินใจคนเดียวมากกว่า ไม่ใช่มีคนมาสั่งโน่นนี่ สั่งเป็น 10 หน บางคนทำเอาเราสั่น ลนจนไม่รู้จะทำอะไร ในที่สุดเหมือนเราต้องเปิดโลกบ้าง ต้องยอมรับกระแสที่ประชาชนสนใจอยู่ เพื่อจะสอบทุกประเด็นค้างคาให้กระจ่าง

อัยการสั่งสำนวนคดีการตายของดาราสาวแตงโมเล่าอีกว่า อย่างประเด็นมีผ้าโผล่ขึ้นมา มีหนังสือราชกสนให้ไปรับ โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ได้เซ็น เหมือนส่งให้เราไป ที่มาที่ไปของผ้าผืนนั้นไม่มีด้วยซ้ำ ทุกคนในหน่วยงานเราบอกต้องไป คือ เราไปแล้วอย่างไร ถ้าผ้าผืนนั้นไม่ใช่ เราก็หน้าแตก ถ้าเราหน้าด้านไม่ไป ผู้ใหญ่ก็ออกคำสั่งมา แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่กล้า สุดท้ายเรารู้กระบวนการ เราให้ตำรวจไปสอบว่า ผ้ามีใครส่ง ส่งมาจากไหน ที่มาที่ไป ใครเป็นคนรับ

เธอฝากถึงกลุ่มหิวแสงบางคนว่า พยายามร่างจดหมายมาให้อยู่ในสำนวน รู้ไหมว่า ร่างได้ห่วยมาก จินตนาการล้ำเลิศ เอามาจากไหน ถ้าแน่จริงเอาพยานมาสอบ ไม่ใช่เหมือนมีวิญญาณสิงอยู่ในเรือ เป็นเรื่องของคนที่มีส่วนได้เสีย อยากให้ผลเป็นอย่างที่ตัวเองคิด รู้เลยว่า เขียนแบบไม่ได้จบกฎหมาย อ่านจนตอนท้ายๆ ขี้เกียจอ่านแล้ว สมมติว่า ถ้าเห็นเหตุการณ์มาให้การเป็นพยานเลย ต้องยืนยันตามนั้น ไม่ใช่จินตนาการล้วน ๆ ถ้าไม่ติดระเบียบราชการ เราออกไปฟาดแล้ว

“ถ้าเป็นประชาชน หรือเป็นพวกยูทูปเบอร์ในฝั่งกฎหมายของเรา คุณเละ ไม่เหลือ แต่เราพูดมากไม่ได้ ต้องรักษาทรง”  อัยการคนดังทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES