คว่ำหวอดอยู่ในสนามข่าวอาชญากรรมมานานกว่า 38 ปี เผชิญปัญหาและอุปสรรคมากมาย กระทั่งกลายเป็น “แกะดำ” ในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพและตำรวจ ด้วยความที่ตัวเองยึดอุดมการณ์กับจรรยาบรรณอันแน่วแน่มาตั้งแต่ต้น
สุรัฐ จินากุล นักข่าวอาวุโสวัย 62 ปีที่บรรดาน้อง ๆ และตำรวจกองปราบปรามรู้จักกันดีในชื่อ “อิ๊ด บางกอกโพสต์” อดีตทหารพรานรับจ้างที่เคยเข้าไปรบในประเทศลาว ก่อนเหลือรอดชีวิตกลับผืนแผ่นดินเกิดพร้อมเพื่อนเพียง 9 คนจากจำนวนนักรบเดนตายทั้งกองพัน
ชีวิตวัยรุ่นของน้าอิ๊ด สุดแสนบู๊ เกเรตั้งแต่ยังเรียนอยู่พาณิชยการพระนคร อาจเพราะมีพี่ชายเป็นเพื่อนสนิทกับ “ปุ๊ ระเบิดขวด” คนดังในยุค 2499 สุดท้ายเขาต้องไปเกณฑ์ทหารพอปลดออกมา มีปัญหาครอบครัวเลยตัดสินใจไปฝึกหน่วยราชโยธิน หน่วยรบพิเศษที่เข้าชิงตัวประกันของกองทัพ ฝึกได้แค่ 7-8 วัน ก็ส่งตัวไปรบที่สงครามกู้ชาติลาวทันที
เมื่อรอดตายกลับมาตอนอายุ 23 ปี ลูกชายของ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ อดีตเจ้าพ่อทหารพรานที่เป็นเพื่อนสนิทกันให้พ่อฝากคุณเท่ห์ จงคดีกิจ บก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์พาเขาเข้าไปทำงานอยู่ที่นั่น
คือจุดเริ่มต้นของอาชีพนักข่าวของเขา
น้าอิ๊ดเล่าว่า ตอนแรกเข้ามาฝึกเป็นผู้สื่อข่าวสงครามคงเห็นว่าเป็นทหารพรานเก่า สามารถบุกลุยได้ทุกพื้นที่ ยุคนั้นบางกอกโพสต์เป็นโรงพิมพ์แรกที่ใช้นักข่าวกับช่างภาพเป็นคนเดียวกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย ได้คุณธนิต ธรรมสุคติ รองหัวหน้าข่าวเป็นอาจารย์สอนวิชาการทำข่าว มีคุณกำธร เสริมเกษมศิลป์ ฝึกให้ถ่ายภาพและล้างรูป
“การทำข่าวนั้นถ้าจะฝึกให้ได้ผลจริงๆนั้นต้องฝึกอาชญากรรม เพราะได้ทุกรูปแบบ คือ ทั้งประสบการณ์ และรู้อุปนิสัยคน ส่วนการถ่ายภาพที่จะดีได้ต้องฝึกถ่ายภาพเคลื่อนไหว อย่างผมการที่จะไปอยู่ข่าวสนามรบนั้นต้องชำนาญการถ่ายภาพเคลื่อนไหวด้วย พี่กำธรเลยให้ไปถ่ายข่าวกีฬา โยนกล้องกับเลนส์เทเลย์ 200 ให้ไปถ่ายโดยไม่ต้องใช้แฟลตมาให้ได้ ต้องถ่ายฟุตบอลที่สนามศุภชลาศัย ถ่ายบาสเกตบอลที่โรงยิม”
นักข่าวรุ่นเดอะบอกว่า ทำให้เขาได้รับรางวัลของโรงพิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อจังหวะไปถ่ายภาพการแข่งขันบาสเกตบอลแล้วกองเชียร์เกิดยกพวกตีกันพอดี บางกอกโพสต์เอาภาพนั้นลงเผยแพร่ไปทั่วโลก
หลังจากเพิ่มพูนความรู้เรื่องการทำข่าวและถ่ายภาพได้ประมาณปีเศษ น้าอิ๊ดถูกลงส่งพื้นที่ภาคใต้เพื่อเกาะติดความเคลื่อนไหวของกลุ่มคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ จากนั้นลุยพื้นที่สีชมพูแถบอีสาน เจอ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นครั้งแรกที่ อ.นาแก จ.นครพนม สมัยนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เพิ่งจบนายร้อยมาใหม่ ๆ อาสาไปรบกับพวกคอมมิวนิสต์ที่นาแก ซึ่งสภาพภุมิประเทศค่อนข้างทุรกันดารการเดินทางไปลำบากมากตอนกลางคืนเข้าไปไม่ได้
“แต่ผมก็จะไป มีพี่สุมิตร เหมสกล เป็นนักข่าวพี่เลี้ยงไปด้วยกัน 2 คน ถึงนาแกเจอท่านเสรีไม่ได้นอนบ้านพัก แต่กินนอนอยู่ในบังเกอร์ ก็เข้าไปสัมภาษณ์ มีตำรวจอยู่ 2-3คน ผมเป็นกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวที่เข้าไปในนั้น ท่านเสรียังถามว่า มาได้ยังไงตอนกลางคืน ไม่โดนยิงตายเหรอ ผมก็ได้แต่ยิ้ม ซึ่งเทคนิคอย่างหนึ่งที่นักข่าวควรจำไว้ว่า ถ้าไปทำข่าวสงครามนั้นต้องมีกล้องถ่ายรูปคล้องคอตลอดเวลา มันเหมือนเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เราปลอดภัย เช่นเดียวกับนักข่าวทั่วโลก” น้าอิ๊ดจำได้อย่างแม่นยำ
เสร็จจากภารกิจทำข่าวสงครามแดนอีสาน น้าอิ๊ดถูกต้นสังกัดส่งให้มาหาข่าวที่กองปราบปราม สามยอด ที่ปัจจุบันถูกทุบทิ้งเป็นห้างคลองถมไปแล้ว
“แรก ๆ ที่เข้าไปอยู่ผมเข้าระบบของกองปราบไม่ได้ เข้ากับเขาไม่ได้ แต่จำเป็นต้องไป ๆ มา ๆ เนื่องจากหน้าที่คือหน้าที่ เหตุผลเพราะกองปราบปรามสมัยนั้นมีแต่ผลประโยชน์ ไม่ใช่ตำรวจอาชีพ ไม่มีใครทำงาน มีสื่อบางพวกเข้าไปร่วมกับกองผลประโยชน์เหล่านั้น ผมรับไม่ได้จึงเหมือนแกะดำโดนตั้งฉายา นักข่าวธรรมมะ ผมต้องพยายามแยกตัวออกมา บางวันไม่มีตังค์กินข้าว ต้องกินน้ำประปา อาหารกลางวันคือน้ำประปา เพราะตัวเองจะใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อไม่ได้ยังต้องมีหน้าที่ส่งลูกเรียน ลำพังแค่เงินเดือนนักข่าวไม่พอกินหรอก แต่ผมยังยึดมั่นในอุดมการณ์ของผม คือ ผมขายข่าว แต่ผมไม่ขายจรรยาบรรณ ไม่ขายชาติ ไม่ทำให้สังคมแตกแยก” นักข่าวอาวุโสมากประสบการณ์พูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง
กว่า 30 ปีที่คลุกคลีเป็นนักข่าวประจำกองปราบ น้าอี๊ดมองว่า แต่ละยุค แต่ละสมัยผู้นำจะไม่เหมือนกัน อย่างยุคของ พล.ต.ท.บุญชู วังกานนท์ เป็นผู้การถือเป็นยุคที่โด่งดังรุ่งเรืองยุคหนึ่ง สามารถพิชิตคดีแชร์แม่ชม้อย แชร์นกแก้ว เริ่มหันกันมาทำงานเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าตั้งหน้าตั้งตาเก็บผลประโยชน์ พอถึงสมัย พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ ยมกกุล จะเน้นเรื่องการปราบปรามยาเสพติดเป็นหลัก รวมทั้งการคลี่คลายจับกุมนายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานหนุ่มที่ขโมยเพชรซาอุดิอาระเบียจนกลายเป็นเรื่องราวของตำนานเพชรซาอุฯ ทุกวันนี้ ขณะที่ พล.ต.ต.รังสิต ญาโณทัย ก็จะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับเรื่องเด็ก ค้าผู้หญิง ทลายซ่องที่นำเด็กไปค้าประเวณี มี พ.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ผกก.2 ป. ยศและตำแหน่งสมัยนั้นเป็นหัวหอกบุกเข้าช่วยเหลือเด็กผู้หญิงที่หลอกมาขายซ่องได้จำนวนไม่น้อย
แต่ยุคที่กองปราบปรามมีระเบียบมากที่สุด นักข่าววัยเกษียณของบางกอกโพสต์บอกอย่างไม่ลังเลยว่าเป็นสมัย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ที่ประกาศก้องในวันรับตำแหน่งผู้การกองปราบปรามว่า “เมื่อหัวไม่ส่าย หางก็ต้องไม่กระดิก”
ตลอดระยะเวลาที่เป็นนักข่าวประจำอยู่กองปราบ น้าอิ๊ดบอกว่า ข่าวที่สร้างความประทับใจเขาในชีวิต คือ “คดีเชอร์รี่ แอน” ใช้เวลาแกะรอยนานถึง 9 ปี หลัง พล.ต.ต.อดิศร จินตะนพัฒน์ ตอนนั้นเป็นสารวัตรกลุ้มใจเรียกไปนั่งกินเหล้าอยู่ที่ร้านเตี้ย ข้างกองปราบสามยอด
“เขามาระบายความไม่สบายใจที่เห็นว่าตำรวจจับผิดคน แต่พูดให้ใครฟังไม่ได้ ช่วยเหลือคนถูกที่โดนจับเป็นคนผิดไม่ได้ ผมก็เก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ มี สารวัตรสะอาด ดาวประจักษ์ ที่สนิทกันช่วยสืบสวนสอบสวนจนสามารถรื้อฟื้นคดีจับคนร้ายตัวจริงมาดำเนินคดี ที่น่าภูมิใจที่สุดคือ ผมสามารถช่วยครอบครัวของคนบริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์ขึ้นมา หลังที่โดนใส่ร้ายมานาน ทั้งยังเป็นเหตุให้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องจับแพะโดยเฉพาะ”
นักข่าวกองปราบรุ่นเก่ายังมีมุมมองการทำงานของตำรวจรุ่นใหม่และน้องนักข่าวรุ่นลูก รุ่นหลานด้วยว่า การทำงานต่างกัน ตำรวจสมัยนี้จะมีระเบียบมีวินัย แต่ประสบการณ์น้อย เพราะตำรวจกองปราบสมัยก่อนนั้นเข้าไปคลุกคลีอยู่กับโจรลงพื้นที่คุมโซน แค่คนถูกล้วงกระเป๋าก็รู้แล้วว่าน่าจะเป็นฝีมือใคร อยู่กลุ่มไหน ใครเป็นเจ้าถิ่น แล้วมาขายใครเขาจะรู้หมด ส่วนวงการมือปืน พวกมาเฟีย ก็จะรู้เพราะวางคนเข้าไปแทรกซึมหมด เห็นได้ว่า ตำรวจสมัยก่อนไม่ได้เติบโตมาจากการวิ่งเต้น แต่เติบโตมาจากการทำงาน ไม่มีการเรียกเงินเรียกทองจากผู้บริสุทธิ์ก็พออยู่ได้
“ถึงผมเป็นคนมีอุดมการณ์แต่ก็เห็นใจตำรวจเหมือนกันนะ กองปราบปราบเปรียบเสมือนกรมตำรวจ กรมหนึ่งมีอำนาจทั่วประเทศ แต่ไม่มีงบประมาณแล้วจะเอาเงินที่ไหนทำงานถ้าไม่เอาเงินนอกระบบมา ส่วนที่เหลือก็คืนให้กับสังคมไป ผิดกับยุคนี้ มีเทคโนโลยีและเงินงบประมาณไม่น้อย แต่บุคลากรกลับไม่มีคุณภาพ ทั้งที่น่าจะขับเคลื่อนผลงานได้มากกว่ายุคก่อน ๆ ”
“ในขณะที่นักข่าวรุ่นใหม่ มีเงินเดือนเยอะ จบปริญญาตรี มากความรู้ แต่ไม่ค่อยทำการบ้าน พอเวลาถามก็ถามแบบซื่อบื้อ เป็นการถามที่ไม่สร้างสรรค์ ถามแบบกูเป็นผู้พิพากษาหรือตัดสินเอาเองว่า นี่มันต้องผิด ทั้งที่ยังไม่รู้ตื้นลึกหน้าบางว่า ผิดหรือไม่ผิด เราไม่ต้องไปตัดสินเขา นักข่าวบางคนยังโดนใช้เป็นเครื่องมือของตำรวจและนายทุน ไม่พิจารณาว่าอะไรคืออะไร มีโอกาสพลาดสูง ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาไม่ได้ฟ้องเฉพาะแต่บรรณาธิการเท่านั้น แต่จะฟ้องคนเขียนด้วย ระวังจะติดคุกกัน” น้าอี๊ดมองแบบนั้น ทั้งยังเสริมด้วยว่า นักข่าวอีกบางส่วนจะโดนหัวหน้าข่าวใช้ให้มาถาม แต่หัวหน้าข่าวเบื้องหลังเป็นอย่างไร ไปคบค้าสมาคมกับนายทุนหรือไม่ มีผลประโยชน์อะไรหรือไม่ สรุปง่าย ๆ มีรายละเอียดเยอะพอสมควร ไม่อย่างนั้น กองปราบจะมีนักข่าวสายธรรมมะ กับ นักข่าวสายอธรรมที่แยกกันอยู่หรือ
น้าอิ๊ด บางกอกโพสต์สรุปทิ้งท้ายว่า “ตำรวจสมัยก่อนการสืบสวนของเขามันเข้าถึงแก่น ตอนนี้นักสืบรุ่นเก่าๆ ก็ปลดเกษียณหมดแล้ว พวกเขาเติบโตมาด้วยสายงานโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันไม่ได้โตมาด้วยสายงาน แต่จะเติบโตมาด้วยสายเส้นเสียส่วนใหญ่ มันไม่มีอุดมการณ์ ไปอิงนักการเมือง มันก็ไปไม่รอด ภาพของตำรวจจึงค่อยๆ เตี้ยลง ไม่ได้เป็น 4 เหล่าทัพแล้ว มันจะเป็น 3 เหล่าทัพกับอีก 1 สำนักงาน คนที่ออกมาโชว์ทุกวี่ทุกวัน จริงๆ แล้วคนที่ทำจริงๆ เป็นพวกจ่าเป็นนายสิบทั้งนั้น แต่พวกนั้นเป็นพวกที่เอาผลงานไปเลื่อนตำแหน่ง ไม่รู้เรื่องจริง แถมมีพวกนายทุนวิ่งเข้าหาส่วนบนอย่างเดียว ช่วงล่างมันก็ตาย งานก็เลยไม่ออก”
มันเป็นบทสรุปที่สะท้อนให้เห็นภาพในมุมมองของนักข่าวกองปราบรุ่นเก่ามากอุดมการณ์