“ผมเป็นนักแม่นปืนของกรมตำรวจ 13 ปีติดต่อกัน”

 

“ทำไมถึงมาเป็นตำรวจเหรอ จริง ๆ แล้ว ผมเป็นลูกทหาร อยากเป็นทหารมากกว่า” พล.ต.ท.กิตติโชติ แสงนิล อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 บอกถึงความรู้สึกแรกในวัยเด็ก

เขาเป็นคนกรุงเทพฯ จบมัธยมศึกษา 6 โรงเรียนนันทศึกษา ที่ตั้งอยู่หน้าโรงพักดุสิต แล้วเบนเข็มไปสมัครสอบเข้าโรงเรียนเตรียมนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 16 รุ่นเดียวกับ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ แต่ไป ๆ มา ๆ ดันเลือกเหล่าตำรวจเป็นอันดับแรกตามเพื่อน ทำให้เขากลายเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 14 ไปเรียนร่วมกับ พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค พล.ต.ท.ธรรมนิตย์ ปิตะนีละบุตร

บรรจุครั้งแรกที่โรงพักหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วนเวียนอยู่ภาคใต้หลายปี โดยเฉพาะนราธิวาสอยู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามโจรก่อการร้ายในพื้นที่แบบเด็ดขาดจนตัวเองยังถูกตั้งค่าหัว จากนั้นย้ายเข้านครบาลไปเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือ ขึ้นสารวัตรสืบสวนพิเศษ 191 ประเดิมเป็นคนแรกของหน่วย เป็นรองผู้กำกับการสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ (191) แล้วย้ายเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือ

ขยับกลับไปขึ้นผู้กำกับการสายตรวจ 191 เป็นรองผู้บังคับการตำรวจสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ติดยศนายพลตำแหน่งเลขานุการกรมตำรวจก่อนโยกเป็นผู้บังคับการปราบปรามยาเสพติด ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร 1 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 รองจเรตำรวจ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2

พล.ต.ท.กิตติโชติเริ่มต้นชีวิตนักสืบอย่างจริงจังครั้งแรกที่สืบสวนพิเศษ หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ สมัย พล.ต.ต.ทิพย์ อัศวรักษ์ เป็นผู้กำกับการสายตรวจรถวิทยุ  ทำงาน 2 หน้าที่ ทั้งปราบปรามอาชญากรรมและงานการเมืองควบคู่กันไป เป็นตำแหน่งใหม่ที่บางโรงพักยังไม่รู้จัก แต่มีอำนาจออกหมายค้น หมายจับได้ทั่วกรุงเทพฯ พอ ๆ กับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ห้วงเวลานั้นนายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งปลด พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจ และนายตำรวจอีกหลายสิบคน จึงประสาน พล.ต.ต.ทิพย์ ขอกำลังไปคุ้มครองความปลอดภัย สารวัตรกิตติโชติเลยได้รับโอกาสไปเป็นนายตำรวจติดตามบิ๊กคลองหลอด ส่งผลให้เขานั่งเก้าอี้สารวัตรเพียง 3 เดือนได้เลื่อนเป็นรองผู้กำกับสายตรวจรถวิทยุ และอยู่แค่ 1 เดือนก็โยกไปเป็นรองผู้กำกับสืบสวนเหนือ

กองสืบสวนเหนือยุคนั้นถือเป็นอีกตำนานสุดยอดนักสืบของวงการตำรวจ มีเหล่าขุนพลนอกเครื่องแบบมือดีหลายชีวิต ตั้งแต่ ชาญ รัตนธรรม สุริยะ โมรานนท์ ชูเดช มัฌชิมานนท์ บัญญัติ ศรีสมบุญ ทวี ทิพย์รัตน์ เขตต์ นิ่มสมบุญ ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ทุกคนล้วนแบ่งทีมแข่งกันทำงานไม่ใช่แค่ในหน่วยอย่างเดียว ยังต้องสร้างผลงานแข่งกับสืบสวนใต้ และสืบสวนธน

ที่ ๆ ทำให้เขาได้ปิดตำนาน “ตี๋ใหญ่” จอมโจรเลื่องชื่อคนดังของเมืองไทย

อดีตนักสืบมือปราบเมืองกรุงย้อนลำดับเหตุการณ์ว่า ตี๋ใหญ่ เข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกปล้นร้านทองในท้องที่สำราญราษฎร์ พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ เป็นสารวัตรใหญ่จึงตามล่ามาตลอด ก่อนพบมันก่อคดีไปอีกหลายท้องที่จนทีมสืบสวนเหนือที่มี พล.ต.ต.เจริญ โชติดำรงค์ และพล.ต.ต.ทิพย์ อัศวรักษ์ ขณะนั้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ทำหน้าที่คุมทีมลงไปช่วยคลี่คลาย กระทั่งได้ข่าวว่าตี๋ใหญ่มาหลบกบดานอยู่กับเพื่อนที่เป็นภารโรงโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม เขตท้องที่นนทบุรี

“ผมเป็นนักแม่นปืนของกรมตำรวจ 13 ปีติดต่อกัน ท่านทิพย์เดินมาบอกว่า โชติ วันนี้เตรียมตัวนะ ข่าวแน่นอนแล้วว่าตี๋ใหญ่อยู่ที่ไหน ผมกลับบ้านไปเตรียมปืนเรียบร้อย กะว่ามีปะทะกันแน่นอน รอยันเช้าไม่มีข่าวคราว ไม่มีการติดต่อ รู้อีกทีตอนตำรวจ 191 ถูกมันยิงตาย หลังจากมันแหกวงล้อมหนี และรู้ด้วยว่า รองทิพย์สั่งให้นายตำรวจคนหนึ่งตามผมแล้ว แต่เขาไม่ตาม เหมือนกลัวผมจะไปแย่งผลงาน” พล.ต.ท.กิตติโชติบอก

เหตุการณ์ความสูญเสียในวันนั้น ทำให้ พล.ต.ท.กิตติโชติ รู้จักหน้าตาทวีป เสือคล้ำ เพื่อนสนิทของตี๋ใหญ่ที่ยอมมาเป็นสายให้ตำรวจหักหลังเพื่อนตัวเองแลกกับเงิน 1 แสนบาท และข้อต่อลองอีกบางอย่าง ทวีปบอกว่า วันที่ตำรวจไปล้อมแล้วตี๋ใหญ่แหกหนีไปได้ ไม่ใช่มันมีวิชาอาคมหายตัวล่องหน แต่มันหลบอยู่ในท้องร่องของสวนทุเรียนเอากอผักบุ้งปิดไว้แล้วใช้ก้านมะละกอหายใจ ตอนนั้นมันยอมตายแล้ว แต่ก่อนตายมันบอกขอเอาตำรวจไปด้วยคนนึง สุดท้ายตำรวจถอนกำลังออกไป เพราะหาไม่เจอ

อีกประมาณ 3เดือนต่อมา ตี๋ใหญ่ก็พบจุดจบ เมื่อเสือทวีปส่งข่าวมาว่า มันกลับไปกบดานที่บ้านดำเนินสะดวกเขตติดต่อสมุทรสาคร ตอนดึกจะแวะมาหาเพื่อนที่อู่ซ่อมรถริมถนนสายธนบุรี-ปากท่อ พล.ต.ต.เจริญ และพล.ต.ต.ทิพย์ เรียกทีมของสมเกียรติ พ่วงทรัพย์ บรรดล ตัณฑไพบูลย์ ผจญยุทธ สิงหะ กิตติโชติ แสงนิล ไปตั้งวอร์รูมอยู่กลางตลาดสมุทรสาคร รองทิพย์วางแผนไม่ให้เข้าจู่โจม เพราะเกรงจะเกิดความสูญเสีย เนื่องจากตี๋ใหญ่ยิงปืนแม่น กิตติศัพท์ของมันยังทำให้ตำรวจสมุทรสาครกลัวทั้งจังหวัด

คืนนั้น พล.ต.ท.กิตติโชติ ได้รับคำสั่งให้เป็นสไนเปอร์เอาปืนติดกล้องตั้งแต่ยังหน่วยสวาทไปซุ่มอยู่ในบ้านฝั่งตรงข้ามอู่ ถ้ามันออกมาสามารถยิงได้ทันที ไม่ต้องรอให้มันชักปืน แต่พอถึงรุ่งเช้ากลับไม่เจอตัวมัน เสือทวีปบอกว่าตี๋ใหญ่ออกไปตอนตีสาม เพราะมันหวาดระแวงตลอดเวลา นอนที่ไหนจะใช้ธูป 1 ดอกจุดไปที่ปลายเท้าพอธูปหมดมันจะเปลี่ยนที่ทันที ตำรวจต้องกลับมาวางแผนใหม่

เสือทวีปเสนอแผนล่อให้เพื่อนรักนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ออกมา เสร็จแล้วให้ตำรวจตามประกบยิงเลย แต่ พล.ต.ต.ทิพย์ไม่เห็นด้วยบอกว่า “เฮ้ย ทำอย่างนั้นไม่ได้ เดี่ยวพลาดไปโดนลื้อตายห่ากันพอดี”  ทำให้แผนนี้ล้มเลิก ทวีปหายไปพักใหญ่ก่อนย้อนกลับมาตอนบ่ายโมงจะให้ตี๋ใหญ่ออกมาขับรถ เพราะรู้ว่ามันขับไม่คล่อง แต่ถ้าชวนมันจะสนใจทันที แผนนี้ทุกคนในที่ประชุมโอเค

ทีมไล่ล่าจับตายตี๋ใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ชุด พล.ต.ท.กิตติโชติ ทำหน้าที่คุมการปฏิบัติ มี ร.ต.อ.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ลูกชาย พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ และร.ต.ท.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ ที่ตอนนั้นทั้งคู่ยังเป็นนายตำรวจหนุ่มซิง ๆนั่งรถไปด้วย เพราะไม่มีใครกล้าปล่อยไปเสี่ยงอยู่ในชุดจู่โจม ขืนเป็นอะไรไปอธิบดีกรมตำรวจเล่นงานหนักแน่ ส่วนทีมที่จะลงมือมีผจญยุทธ สิงหะ บรรดล ตัณฑไพบูลย์ สมสวัสดิ์ มันประเสริฐ และนักสืบประเภทบู๊ล้างผลาญอีก2-3 คน

รถสองแถวที่ตี๋ใหญ่เป็นคนขับ มีเสือทวีป นั่งขนาบข้างพร้อมไอ้พร ลูกสมุน เจ้าของรถนั่งอยู่ด้านหลังแล่นออกมาอย่างช้า ๆ ตามเส้นทางที่ทวีปบอกไว้ล่วงหน้าผ่านวัดเกตุง พอถึงทางเข้าวัดธรรมโชติ จู่ ๆ มันเลี้ยวรถเข้าไป รถตำรวจที่ตามมา 2 คันต้องขับเลยไม่ให้มันผิดสังเกต ก่อนวางแผนใหม่ให้รถของบรรดลไปอ้อมเข้าทางบ้านแพ้วเพื่อสวนกลับมา ขณะที่คันของ พล.ต.ท.กิตติโชติย้อนขับไปตามหลังมันห่าง ๆ เห็นฝุ่นฟุ้งกระจายไปตลอดทาง

 “คันผมไม่ได้มีเจตนาทำอะไร แค่ประกบตามเฉย ๆ ดันไปเจอมันจอดอยู่ข้างทางพอดี  ตี๋ใหญ่ถามไอ้วีปว่ารถใคร ทวีปอ้างเป็นรถชาวบ้าน สถานการณ์คับขันตอนนั้นทำให้รถคันผมต้องแซงปาดหน้า ผมเตรียมตัวอยู่แล้ว พอลงรถก็ชักปืนซัดใส่เลย เช่นเดียวกับผู้กองกฤษฎา เสียงปืนดังเปรี้ยงป้างหลายนัด ทะลุกระจก ปิดบัญชีตี๋ใหญ่ ส่วนไอ้พรวิ่งหนีลงจากรถ ผมกำลังจะยิง ไอ้วีปกลับมายืนบัง บอกเพื่อนรักผม ลูกมันยังเล็ก อย่ายิงครับ ไม่ยิง ก็ไม่ยิง แต่ให้ตำรวจ 2 คนคุมทั้งคู่ไปที่กองบังคับการส่วนหน้า เหลือผมกับกฤษฎายืนเฝ้าศพตี๋ใหญ่อยู่กลางดงของพวกมัน ไม่รู้ใครเป็นใคร พอชาวบ้านผ่านมามุงดู ผมต้องยิงปืนขึ้นฟ้าไล่กว่ากำลังจะมาสมทบใช้เวลานานเกือบ 45 นาที”  

เสร็จจากคดีตี๋ใหญ่ ร.ต.อ.ผจญยุทธ สิงหะ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างกลับจากไปทำแผน ขณะที่เสือทวีปมาทำงานที่โรงหนังเอโอของพล.ต.ต.เจริญ โชติดำรงค์ เพราะทีมสืบสวนกลัวจะไม่ปลอดภัย แต่เจ้าตัวพยายามจะรั้นกลับบ้าน เนื่องจากต้องการไปรับลูกเมียมาอยู่ด้วย ตำรวจห้ามเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง เสือทวีปบอกไม่กลัว เชื่อว่าไอ้พรไม่กล้าทำอะไรกับเขา ปรากฏว่าวันนั้น ทวีปออกจากกองสืบสวนเหนือไปตอนเที่ยง พอสี่โมงเย็นมันก็ถูกไอ้พรยิงตาย ไอ้พรยังประกาศด้วยว่า “ไอ้ตี๋ กูแก้แค้นให้มึงแล้วนะ”

นอกเหนือจากการไล่ล่าปิดบัญชีขุนโจรชื่อดังแล้ว พล.ต.ท.กิตติโชติเล่าว่า ยังมีคดีที่ประทับใจอีก เป็นคดีโจรอาก้าปล้นพ่อค้าเนื้อตลาดลาดพร้าวสะพาน 2 ชิงสร้อยทอง 20 บาทแล้วฆ่าเจ้าทรัพย์อย่างโหดเหี้ยม กระสุนอาก้ายังหลงถูกนิ้วของเพื่อนร่วมแก๊งที่ล็อกคอเหยื่อไว้หายไปด้วย  “วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ผมกำลังขับรถกลับบ้าน เห็นรถติด มีคนโวยวายก็ชะเง้อดู พอดีรถมอเตอร์ไซค์สายตรวจโรงพักลาดพร้าวขี่มาจอดข้างรถผมเลยถามว่ามีอะไรกัน ตำรวจชี้ไปที่รถคันหน้าผม 2 คัน”

“ผมเห็นปากกระบอกปืนอาก้าออกมาจากรถ มีแสงไฟแว็บออกเสียงดังสนั่น กระสุนตัดหัวสายตรวจคนขี่มอเตอร์ไซค์ขาดสมองกระจาย เลือดกระเซ็นติดรถผมต่อหน้าต่อตา ผมมีปืนยูเอสอาร์มี่ ตัดสินใจบึ่งรถเหยียบคันเร่งจมมิดไล่ตามไป แต่คลาดกันตรงซอยมหาดไทย ต้องกลับมาประชุมวางแนวทางการสืบสวนที่โรงพักบางซื่อ มุ่งประเด็นไปที่รถเช่าคลองเคยคาร์เรนท์เป็นหลัก”

จ.ส.ต.วิชัย แจ้งสว่าง ถูกส่งไปเฝ้าจุดที่เต็นท์ เจ้าของพยายามบ่ายเบี่ยงไม่มีรถยี่ห้อนี้ สีนี้ตรงตามลักษณะรถของคนร้าย รอจนเกือบเช้ามีนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงคนหนึ่งนำรถมาคืน จ.ส.ต.วิชัยจึงล็อกตัวไว้ มี ร.ต.อ.จิรสิทธิ์ มหินทรเทพ ร.ต.อ.อุดม เนตยสุภา รองสารวัตรสืบสวนตามไปสมทบ แต่เกือบทำผู้ต้องหาหลุดต้องคว้าจับกันเหนื่อยมาขยายผลรับสารภาพว่า กลุ่มคนร้ายอยู่ที่กุฏิวัดบางบัว ย่านบางเขน ตำรวจสืบเหนือระดมกำลังไปล้อมชาร์จจับได้ 3 คน รวมถึงคนนิ้วกุดที่เลือดโชกไม่กล้าไปหาหมอ แต่หัวหน้าโจรอาก้าหนีไปได้เดือนเศษก็ถูกตำรวจสระบุรีวิสามัญฆาตกรรม ส่วนลูกสมุนที่เหลือศาลตัดสินประหารชีวิตหมด

อีกคดีในความทรงจำของนายพลมือปราบ เจ้าตัวบอกเป็นคดีเรียกค่าไถ่เสี่ยนักธุรกิจ 10 ล้านบาท ตอนนั้นดำรงตำแหน่งผู้บังคับการปราบปรามยาเสพติด เป็นเช้าวันอาทิตย์เพื่อนของลูกสาวโทรมาบอกว่า พ่อถูกคนร้ายจับไปเรียกค่าไถ่ “ความจริงผมไม่มีหน้าที่ ถ้าไม่ใช่เพื่อนของลูกคงไม่ทำ ผมเรียกลูกน้องเก่าสืบสวนเหนือไปประชุมวางแผนทันที มี ร.ต.อ.ปิยะพงษ์ ผลวาณิชย์ รวมอยู่ด้วย ผมสงสัยคนใน เพราะเมียผู้เสียหายไปเล่นหุ้น เป็นหุ้นขาใหญ่ คนร้ายรู้ความเคลื่อนไหวคนในบ้านหมด ผมให้ต่อรองเรื่องราคา มีการดักฟังโทรศัพท์ ต่อรองลงมาเรื่อย ๆ กว่าจะรู้ว่ามันโทรศัพท์ที่ตู้สาธารณะใกล้กรมตำรวจนั่นเอง แต่พอวางกำลังดักกลับไม่ทัน”

“สถานการณ์เริ่มตึงเครียด เมียและลูกผู้เสียหายเริ่มใจอ่อนจะยอมจ่ายเงินเพราะกลัวเหยื่อตาย ผมยืนยัน เอาเถอะ มาถึงตรงนี้แล้ว ผมรับผิดชอบเอง ขอให้ทำตามผม พอถึงสองทุ่มคนร้ายโทรมากำชับให้เอาเงินมา ไม่ฉะนั้นจะฆ่าเหยื่อ บังคับให้ใช้รถทะเบียนนั้น ให้ลูกคนนั้นถือเงินใส่กล่องแล้วทำตามที่มันจะบอกต่อไป ผมตัดสินใจเอาหนังสือยัดกล่องแทนเงิน และให้ตำรวจ 2 คนปลอมขับรถไปแทน เพราะลูกของผู้เสียหายก็กลัวตายเหมือนกัน”

พล.ต.ท.กิตติโชติเล่าว่า คนร้ายเหมือนรู้ความเคลื่อนไหวของเราตลอด รู้ว่ารถขับไปถึงตรงไหน แล้ววิทยุสั่งให้ขึ้นทางด่วนคลองเตยพอผ่านโค้งตรงการท่าเรือให้จอดแล้วโยนกล่องเงินลงไปด้านล่าง ถึงตรงนี้ตำรวจเริ่มหวั่นวิตก เพราะไม่เห็นคนร้าย โชคดีที่มีกำลังอีกชุดอยู่ด้านล่างซุ่มดักรอจึงเห็นชาย 2 คนนั่งมอเตอร์ไซค์มาคว้ากล่อง ตำรวจจึงกรุเข้าล็อกตัว แต่อีกคนดันหนีไปได้ “ตอนนั้นผมเต้นใหญ่ ตัวประกันก็ไม่ได้ คนร้ายหนีไปอีก ตัวที่จับได้ตอนแรกปฏิเสธ ต้องซ้อมจนน่วม ผมบอกถ้าไม่รับก็ไม่ต้องเอาไว้ มันถึงกลัวตายและยอมพาไปบ้านร้างที่นำเหยื่อมาขัง เสี่ยผู้เสียหายถูกคนร้ายมัดมือโปะยาสลบจับกรอบยานอนหลับอยู่ในภาพตัวแข็งทื่อ เริ่มเขียว ตาไม่เป็นตาดำ ผมต้องบีบนวดแล้วรีบแจ้งรถโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มารับตัว หมอบอกกับผมว่า ถ้าช้าเกินครึ่งชั่วโมงตายแน่ เพราะเขาเป็นโรคหัวใจ”

“คนร้ายที่จับมาได้ถูกเค้นต่อ มันยังบอกว่า ต้องไม่ใช่ตำรวจทุ่งมหาเมฆแน่ วางแผนกันมาเดือน ปลอมเอกสารเช่าบ้าน สมบูรณ์แบบ จะว่าไปแล้ว ผมไม่เก่ง แต่ฟลุกมากกว่า ถ้าผู้เสียหายเขาไม่รู้จักลูกสาวผม ไปแจ้งโรงพัก บางทีผมว่าเสร็จ ต่อมาพวกผมขยายผลตามจับหัวหน้าแก๊งได้ ที่แท้ก็เป็นนักธุรกิจที่เล่นหุ้นอยู่กับเมียของผู้เสียหาย แต่เจ๊งหุ้นเลยต้องทำแบบนั้น คดีนี้มันเป็นความภาคภูมิใจของผม ที่ได้ช่วยชีวิตเหยื่อได้อย่างปลอดภัย” พล.ต.ท.กิตติโชติระบายความรู้สึก

เมื่อถามมุมมองของนักสืบยุคใหม่ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 บอกว่า นักสืบอยู่ที่จิตวิญญาณ สมัยก่อนสนุก เพราะทุ่มเทจริง ๆ วัน ๆแทบไม่ได้พัก ชีวิตที่สืบสวนเหนือมีความสุขในการทำงานมากที่สุด พอเย็นจะมีรถตู้เก่า ๆ มีทีมงาน 5-6 ไปตามตรอกซอกซอยเจอคนร้ายโจรกรรมบ่อย ทำวิสามัญฯกัน เป็นนักสืบจริง ๆ

“แต่สมัยนี้ขาดจิตวิญญาณ ความทุ่มเทสู้สมัยก่อนไม่ได้ เชื่อว่า สืบสวนเหนือเหมือนโรงเรียน ถ่ายทอดวิชาให้กับน้อง ๆ รุ่นต่อ ๆ ไป พอยุบแบ่งออกเป็น 9 กองบังคับการ ทำให้กระจัดกระจาย เลือดก็เจือจาง แถมมีอยู่ช่วง ใครก็ไม่รู้เอานักสืบกระเด็นออกไปนอกหน่วย นั่นก็เป็นจุดอ่อนของความเป็นนักสืบ ขาดครูที่จะสานต่อสร้างทายาท”

กิตติโชติ แสงนิล !!!

 

RELATED ARTICLES