ยศบนบ่าต้องมีค่าเท่ากัน

 

ไม่เกินความคาดหมายเมื่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เปิดศึกชนแหลก

เตรียมยื่นฟ้อง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจทั้งหมดอีก 11 คนที่ร่วมกันลงมติเอกฉันท์

ปิดประตูการเดินทางกลับเข้านั่งเก้าอี้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ยืนยันคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นเห็นชอบด้วยกฎหมาย

มีประเด็นน่าสนใจ ขออนุญาตลอกบทความคนหนึ่งในโลกออนไลน์ระบายมาเผยแพร่วิพากษ์จารณ์คำแถลงข่าวของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ได้ให้ความเห็นกับคำว่า ออกจากราชการก่อน (ให้ขีดเส้นใต้ไว้ด้วย) ของตำรวจผู้ใหญ่ “ระดับบิ๊ก” ที่ครั้งหนึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ข้อสังเกตว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น จะให้ความเป็นธรรมก็ต่อเมื่อมีคำแนะนำจากคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 120 วรรคท้าย

น่าจะชัดเจนตามคำแถลงแล้วว่า ขั้นตอนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติท่านเห็นว่า ไม่ถูกต้อง ต่อไปผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้ข้าราชการตำรวจใดออกจากราชการไว้ก่อน แม้หากมีข้าราชการตำรวจทำผิดอาญาชัดเจนเช่น ลักลอบขนยาเสพติด หรือกระทำผิดอาญาร้ายแรง เช่น ฆ่าผู้อื่น

มอบตัวสู้คดี ศาลยังไม่ตัดสิน “ถือเป็นผู้บริสุทธิ์”

ประกันตัวออกมา วันถัดมาแต่งเครื่องแบบมาปฏิบัติหน้าที่จับกุมผู้เสพ หรือค้ายาเสพติด

ผู้บังคับบัญชาจะยังสั่งให้ข้าราชการตำรวจคนนั้นออกจากราชการไว้ก่อนไม่ได้ทันที หากตัองฟังความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเนื่องจากต้องหาคดีอาญา

ในความเป็นจริง คณะกรรมการสอบสวนจะมีข้อเสนอแน ได้อย่างไร ในเมื่อพึ่งได้รับคำสั่งให้มาเป็นคณะกรรมการสอบสวน ต้องรอบคอบ เพราะมีขั้นตอน ระยะเวลาการสอบสวนทางวินัยที่ชัดเจน

ถ้ารีบเสนอแนะไปก็เสี่ยงถูกฟ้อง 

หากตำรวจที่โดนคดีสามารถคุยกับคณะกรรมการสอบสวนรู้เรื่อง มีความเห็นควรให้รับราชการต่อไป ประชาชนจะว่าอย่างไร รับได้หรือไม่ จะมีการกล่าวหาว่า ตำรวจโดนดำเนินคดี แล้วยังไม่ไล่ออก ช่วยพวกเดียวกัน ประชาชนขาดความเชื่อถือหมดแล้ว 

เรื่องนี้คงต้องไปพิจารณาดูว่า เกิดจากปัญหาของการบัญญัติข้อกฎหมาย หรือ “ใช้อภินิหาร” ในการตีความกฎหมาย

ผลสุดท้ายใครได้รับความเสียหาย

ฝากท่านเนติบริกรมององค์กรตำรวจและเห็นแก่ตำรวจสองแสนนายด้วยเถอะ ส่วนใหญ่เรียนจบกฎหมายมา ทำงานในองค์กร อาจจะไม่เก่ง แต่ใช้กฎหมายทำงาน บริการช่วยเหลือประชาชน

เห็นระดับที่ปรึกษาตีความบิดเบี้ยวแบบนี้  แล้วถ้าตำรวจใช้กฎหมายบิดเบี้ยว ตีความเข้าข้างตัวเองบ้าง ใครเดือดร้อนครับ  

ตำรวจอยากมีเจ้านายที่ขาดคุณธรรม มีลูกน้องกลุ่มเดียวใช้ไประราน บังคับตำรวจให้ทำงานผิดกฎหมายผิดขั้นตอน รังแกคน เพื่อผลงานของตัวเองอย่างเดียวหรือไม่

สุดท้าย “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” ลุแก่อำนาจ ทำผิดกฎหมายเสียเอง เพราะเงินมันเยอะ เนรมิตได้ มีทั้งอำนาจ เงินทอง ใช้เงินผิดกฎหมาย เขัาหาผู้ใหญ่ ซื้อของกำนัลให้ รับปากรับคำ ช่วยเหลือทุกอย่าง

ผู้หลักผูัใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้ ท่านมีทุกอย่างครบแล้วจะอยากได้อะไรอีก ช่วยเปิดตาเปิดใจ ถามตำรวจที่รู้จักเถอะ

“บางคนธาตุแท้เป็นคนอย่างไร ทำงานแบบไหน พฤติการณ์การทำงานแบบนั้น ใครก็ทำเป็น หยิบชิ้นงานมาแถลงออกสื่อ สั่งการผิดกฎหมาย ทิ้งขี้ไว้ให้ตำรวจพื้นที่ แบกรับไปลุ้นเอา บังคับตำรวจให้ไปอ้อนวอนขอศาล ออกหมายจับ”

เมื่อตัวเองลงไปดูแลคดี เป็นผลงานโชว์ประชาชนที่คนอื่นไม่ทำกัน ไม่ใช่ทำไม่เป็น แต่มีระเบียบวินัย รู้จักการบังคับบัญชา “มียางอาย” รู้อะไรถูกผิดอะไรเหมาะอะไรควร

ดังนั้น เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่กระทำผิดกฎหมาย “ยศบนบ่าต้องมีค่าเท่ากัน” จะต้องโดนดำเนินคดีภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่สมควรให้ใคร “มีอภิสิทธิ์” เหนือกว่าใคร

ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ช่วยบ้านช่วยเมือง

ตำรวจดีๆ ที่เคยสัมผัสตำรวจใหญ่บางคนท้อแท้กันไปทั่วหมดแล้ว

RELATED ARTICLES