การรณรงค์ปฏิรูปตำรวจครั้งใหม่กำลังเป็นความหวังของข้าราชการสีกากีกว่า 2 แสนชีวิต
ท้ายสุดจะทำสำเร็จอย่างที่ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ และทีมงานนายตำรวจเก่าวาดหวังหรือไม่
ต้องจับตาดูท่าทีของผู้มีอำนาจจะยอมปล่อยอำนาจได้ไหม
กระนั้นก็ตาม ผศ.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายตำรวจแห่งชาติ ที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันวิจัยชุมชนและความเป็นผู้นำ ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล ได้เสนอผลการศึกษาเรื่อง “เปิดใจตำรวจ” กรณีศึกษาตัวอย่างข้าราชการตำรวจทุกสายงานกระจายทั่วประเทศ
ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวนทั้งสิ้น 2,253 ตัวอย่าง
เมื่อถามถึงความรู้สึกทุกข์ใจวันนี้จากการรับราชการตำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.8 ระบุจำนวนตำรวจไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่ต้องดูแล ทั้งประชาชนในภูมิลำเนาและประชากรแฝง
รองลงมาร้อยละ 72.6 ระบุ กฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพนักงานสอบสวน และอื่น ๆ ร้อยละ 67.5 ระบุเป็นเรื่องหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอ
ที่น่าสนใจพบร้อยละ 82.9 รู้สึกรักและยังภูมิใจความเป็นตำรวจมาก ถึงมากที่สุด
เมื่อถึงความคิดเห็นของตำรวจต่อการ “ปฏิรูปตำรวจ” ส่วนใหญ๋ร้อยละ 96.5 มองว่า ปฏิรูปแล้วให้ตำรวจมีคุณภาพที่ดีขึ้น ร้อยละ 96.1 เชื่อว่า ปลอดการแทรกแซงจากการเมือง ร้อยละ 93.4 ระบุจะเพิ่มตำรวจสายตรวจป้องกันปราบปราม ดูแลประชาชนให้ทั่วถึง
มีร้อยละ 93.3 เห็นว่า ปฏิรูปแล้วต้องคืนตำรวจให้ประชาชน ไม่เอาตำรวจไปเดินตามนักการเมืองและผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 92.6 ทำให้ตำรวจเติบโตเชี่ยวชาญในสายงานตัวเอง ห้ามมีการสไลด์ข้ามสายงาน
ขณะเดียวกัน เมื่อใช้คำถามปลายเปิดให้ตำรวจตอบเองเป็นครั้งแรกพบเกือบร้อยละร้อยกับสิ่งที่ตำรวจต้องการเป็น “อันดับแรก” ในการปฏิรูปตำรวจ คือ ดูแลสวัสดิการ ค่าตอบแทน
เอาตำรวจที่เดินตามนักการเมืองกลับมาดูแลประชาชน เพราะตำรวจบางนายครองตำแหน่งที่โรงพักแต่ไม่อยู่ดูแลพื้นที่ อีกทั้งควรเพิ่มกำลังพลจำนวนตำรวจให้มากเพียงพอต่อจำนวนประชาชนที่ตำรวจต้องดูแล
ส่วนเรื่องอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นถูกกำหนดว่า ต้องมีแต่ของหลวง ไม่เคยซื้อให้ตำรวจใช้ ตำรวจถึงต้องหาเงินซื้อเอง
ปฏิรูปแล้วต้องทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นธรรมได้แท้จริง
ล้วนเป็น “โจทย์ข้อยาก” หากจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงผ่าตัดใหม่